Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไฟไหม้ที่ป่าแอมะซอน

Posted By Rezonar | 09 ก.ย. 62
16,855 Views

  Favorite

นับแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม พ.ศ. 2562  สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอวกาศ (INPE) ตรวจพบเพลิงไหม้ในป่าแอมะซอนมากกว่า 74,000 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2013 และยังตรวจพบไฟป่ามากกว่า 9,500 ครั้ง ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2562 โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 มีไฟป่าเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 40,000 ครั้ง หรือถ้าเทียบกับปีที่แย่ที่สุดอย่างปี 2559 ที่จำนวน 68,000 ครั้ง ปีนี้คือปีที่รุนแรงที่สุด

ภาพ : Shutterstock

 

เหตุใดเหตุไฟไหม้ป่าแอมะซอน (Amazon) จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว

และป่าแอมะซอนมีความสำคัญอย่างไรต่อโลกของเรา ผู้เขียนขอสรุปมาให้อ่านกันในบทความนี้

 

สุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าแอมะซอน เป็นป่าเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่เป็นป่าคุ้มครอง 2.1 ล้านตารางกิโลเมตร จากผลการศึกษาสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า ประกอบไปด้วยพืชกว่า 30,000 ชนิด, ปลา 2,500 ชนิด, นก 1,500 ชนิด, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 500 ชนิด, สัตว์เลื้อยคลาน 550 ชนิด และแมลง 2.5 ล้านชนิด หรือกล่าวได้ว่า มีสายพันธุ์ของพืชและสัตว์คิดเป็นหนึ่งในสี่ของโลก ทั้งที่ค้นพบแล้ว และยังไม่ถูกค้นพบอีกมาก แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของป่าแอมะซอนได้เป็นอย่างดี

 

ปอดของโลก

แม่น้ำแอมะซอน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ มีพื้นที่คิดเป็น 40% ของทวีปอเมริกาใต้ (และ 60% ของพื้นที่ อยู่ในประเทศบราซิล) ต้นกำเนิดของแม่น้ำแอมะซอนอยู่ในประเทศเปรู บนเทือกเขาแอนดีสทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และทอดตัวลัดเลาะผืนป่าทึบไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่ประเทศบราซิล รวมระยะทางประมาณ 6,400 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ของทวีปแอฟริกา แต่ปล่อยน้ำจืดลงสู่มหาสมุทรในปริมาณมากที่สุดในโลก น้ำที่หมุนเวียนอยู่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนคิดเป็นร้อยละ 15-16 ของน้ำจืดทั่วโลก การไหลของมันช่วยพัดพาตะกอนดินและแร่ธาตุไปเติมความอุดมสมบูรณ์ ให้แก่พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ ดินดอนปากแม่น้ำ และระบบนิเวศชายฝั่งมากถึง 1.2 ล้านตันต่อปี

ภาพ : Shutterstock

 

ป่าแอมะซอนยังมีความสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถดูดซับได้ราว 2,000 ตันต่อปี ตามรายงานของ World Wide Fund for Nature (WWF) ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยชะลอความเร็วของการเกิดสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งโลก ในกรณีที่ร่างกายมนุษย์ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด กระตุ้นระบบหายใจให้หายใจเร็วขึ้น หัวใจจึงเต้นเร็วขึ้นและกดสมอง ทำให้หมดสติในที่สุด

 

นอกจากนี้ 20% ของออกซิเจนที่หมุนเวียนอยู่ในโลก ยังได้รับการผลิตมาจากผืนป่าแห่งนี้อีกด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการรักษาสมดุลชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า ป่าแอมะซอนคือปอดของโลก จึงเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน การลดลงของพื้นที่ป่า เช่นการตัดไม้ทำลายป่า หรือไฟป่า จะลดความสามารถของการดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่าง ๆ ระบุว่า ไฟไหม้ครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติของฤดูแล้ง เนื่องจากไม่มีความผันผวนของสภาพอากาศแต่อย่างใด ในขณะที่ประธานาธิบดีบราซิลคนปัจจุบันอธิบายว่า ไฟไหม้แอมะซอนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของฤดูแห่งคิวมาดา (queimada) เมื่อเกษตรกรใช้ไฟในการเคลียร์พื้นที่ แต่จากการสำรวจโดยโครงการกองทุนโลกเพื่อธรรมชาติ (WWF) ของแอมะซอน พบว่า ไฟป่าครั้งนี้เป็นผลมาจากตัวเลขการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นล่าสุด ทั้งนี้ แอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่ง

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้นักดาราศาสตร์จะทำนายจุดจบของโลกตามธรรมชาติในอีกหลายล้านปีข้างหน้า แต่สิ่งมีชีวิตบนโลกอาจไม่ได้อยู่ได้ยืนยาวขนาดนั้น ตราบใดที่ธรรมชาติถูกทำลายลงทุกวัน อากาศที่เราใช้หายใจก็น้อยลงไปทุกขณะ การลดลงชองพื้นที่ป่าจึงมิใช่เพียงส่งผลต่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงอนาคตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราแต่อย่างใดเลย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow