ไข่มุกหรือทาปิโอกา (tapioca) มีที่มาจากคำว่า “tipi’óka” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง Tupi-Guarani ในประเทศแถบอเมริกาใต้ มีความหมายว่า การตกตะกอน ซึ่งการตกตะกอนนี้เกิดขึ้นในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลัง โดยเจ้าก้อนทาปิโอกานี้มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ และมันก็คือเม็ดไข่มุกที่เรารู้จักกันอย่างดีนั่นเอง
ไข่มุกเกิดจากกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังโดยการนำแป้งมันสำปะหลังมาทำให้ร้อน เคี่ยวกับน้ำตาลและน้ำในหม้อเล็ก ๆ จากนั้นหั่นแป้งที่เคี่ยวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ ออกมาเป็นไข่มุกมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนสีและรสสัมผัสของไข่มุกได้โดยการเติมน้ำ น้ำตาล หรือสีผสมอาหารต่าง ๆ อีกด้วย
เนื่องจากวัตถุดิบของเม็ดไข่มุกได้มาจากหัวมันสำปะหลัง จึงอาจกล่าวได้ว่า ไข่มุกนั้นเกือบจะเป็นคาร์โบไฮเดรต 100% ดังนั้น มันจึงปราศจากไขมันและโปรตีน โดยไข่มุกมันสำปะหลังแห้ง 152 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 544 แคลอรี ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 135 กรัม ไขมัน 0 กรัม และโปรตีน 0 กรัม และเพราะในหัวมันสำปะหลังไม่มีส่วนประกอบของกลูเตนเลย มันจึงถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารบางอย่างที่ไม่ต้องการกลูเตน แต่ได้สัมผัสและความนุ่มชุ่มชื้นคล้ายกับใส่กลูเตนลงไป
โดยทั่วไปมันสำปะหลังไม่ได้มีผลต่อร่างกายหรือสุขภาพในทางลบ ส่วนมากหากจะมีผลต่อร่างกายในทางลบก็อาจมาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากในหัวมันสำปะหลังสดนั้นประกอบไปด้วยสารประกอบที่เป็นพิษเรียกว่า ลินามาริน (Linamarin) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ในร่างกายและอาจทำให้เกิดพิษไซยาไนด์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด และการหายใจได้ อย่างไรก็ตามในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพก็มีขั้นตอนในการกำจัดลินามารินออกไป จึงไม่ก่อให้เกิดผลต่อร่างกายของผู้บริโภค
แป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบของไข่มุก นอกจากถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนม ดังเช่น เม็ดไข่มุกหรือพุดดิ้งแล้ว ในปัจจุบันยังถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย เช่น ถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งทำมาจากยางไม้ (เรซิน) ของมันสำปะหลัง
ผลิตภัณฑ์เรซินสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน และภาชนะบรรจุอาหารต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เพียงย่อยสลายได้ทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากสามารถใช้เป็นปุ๋ยได้ หรืออาจนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ใช้รักษารูปทรงเสื้อผ้าในตอนรีดผ้า
ทาปิโอกา นอกจากจะนำมาเป็นส่วนผสมเคี้ยวหนึบในเครื่องดื่มชาไข่มุกแล้ว ยังสามารถประยุกต์ไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ถ้าในอนาคต แก้วและหลอดใส่ชาไข่มุกสามารถผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วยแล้ว คงจะดีไม่น้อยทีเดียว