‘วิศวกรรมศาสตร์’ เมื่อได้ยินชื่อคณะนี้หลาย ๆ คนคงคิดถึงสุภาพบุรุษเต็มไปหมด ดุดัน และวิชาเรียนที่แสนโหดทั้ง แมท ดรออิ้ง แคลคูลัส แต่นั่นแหล่ะครับ เพราะวิศวะถูกออกแบบมาเพื่อเป็นผู้สร้าง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้โลกน่าอยู่ขึ้น วิชาต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจำเป็นจะต้องเรียนรอบด้าน ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ พี่หยาง ชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หลักสูตรนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วันนี้พี่หยางขอพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักวิศวกรรมศาสตร์ที่คูลที่สุดในโลก ที่พี่เรียนอยู่กันครับ
ก่อนอื่นพี่ขอเล่าถึงภาพรวมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง กันก่อนครับ ‘วิศวะ ลาดกระบัง’ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่สอนวิศวกรรมศาสตร์ ที่เก่าแก่และแข็งแกร่งแห่งหนึ่งของไทย ที่มีราว 30 หลักสูตรทั้งภาคไทยและอินเตอร์ คือ จากกว่า 10 ภาควิชา อาทิ วิศวกรรมการวัดและควบคุม วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมอาหาร วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นคณะแรก ๆ ของสถาบันฯ ที่มีการก่อตั้งขึ้น
สำหรับวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ที่พี่เรียนนั้น จะเป็นหนึ่งในกลุ่มวิศวกรรมที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์วิวัฒนาการยุคดิจิทัลโดยเฉพาะ ในอนาคตอันใกล้งานหลายอย่างจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หลักสูตรที่พี่เรียนนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างนักพัฒนาซอฟแวร์สำหรับ AI และ Robot สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่ www.facebook.com/kmitl001 หรือ https://www.reg.kmitl.ac.th
ส่วนความพิเศษวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นั้น พี่คิดว่าด้วยตัวหลักสูตรที่ถูกยกเครื่องและออกแบบ ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และมีพี่ ๆ บัณฑิตที่จบการศึกษาจากวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้รับการยอมรับและเข้าทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศ เลยทำให้คณะของเรามีพาร์ทเนอร์ในการถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการเรียนการสอน และโอกาสในการฝึกงานกับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก
บทความนี้พี่หยางจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับความพิเศษของ ‘วิศวะ ลาดกระบัง’ ว่าเราเท่อย่างไร! ทำไมถึงต้องลาดกระบังเพราะที่นี่เป็นวิศวะที่เหนียวแน่นและเป็นกันเองที่สุดในโลก อยากให้น้อง ๆ ลองอ่านแล้วจินตนาการตามพี่มา ส่วนเพื่อน ๆ พี่ ๆ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน อ่านแล้วน่าจะเห็นภาพตาม และคิดถึงช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในรั้วลาดกระบังแห่งนี้ครับ
พี่มองว่าการจะประสบความสำเร็จทางการเรียนได้นั้น ส่วนหนึ่งเราต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ หมายความว่า ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนแชร์ความรู้กัน ไม่ห้ำหั่นกันจนเอาเป็นเอาตาย ย่อมเป็นผลให้เราเปิดรับการเรียนรู้ได้มากขึ้น มีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ อาจารย์ และรุ่นพี่รุ่นน้อง พี่ว่านี่เป็นสิ่งที่วิศวะ ลาดกระบังให้กับพี่ การที่เข้ามาเรียนที่นี่เสมือนการได้มาอยู่กับครอบครัว ที่ไม่ได้แตกต่างจากการอยู่ที่บ้านเท่าไหร่นัก พี่มีเพื่อน ๆ ที่คอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพร้อมให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน มีอาจารย์ที่นอกจากจะสอนในทฤษฎีแล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้เราแสดงศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ การมีรุ่นพี่คอยให้คำปรึกษา แนะแนวทางต่าง ๆ และประสบการณ์ในการเรียนให้กับเรา และวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ รุ่นพี่รุ่นน้องที่คอยซักถามสารทุกข์สุขดิบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เราได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และครูอาจารย์ เช่น กิจกรรมรับน้องรถไฟ กิจกรรม KMITL First Step กีฬาเฟรชชี่เกมส์ พิธีมอบเนคไทและเข็มพระมหามงกุฎ กิจกรรม Project Day ของคณะ กิจกรรมของแต่ละภาควิชา ค่ายอาสา และอื่น ๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าตลอด 4 ปีที่น้อง ๆ จะเข้ามาเรียนที่นี่จะเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อย่างแน่นอนครับ
จริง ๆ แล้ว เรื่องโลเคชั่นของสถาบันฯ ที่บางคนคิดว่าเป็นอุปสรรคพี่อยากจะบอกว่าก่อนหน้าที่พี่มาเรียนนั้นก็เคยคิดเช่นนี้เหมือนกันครับ แต่พอได้มาอยู่ในย่านลาดกระบังนี้ ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลเลยครับ แถมการอยู่ชานเมืองเลยทำเพื่อนหลายคนที่เป็นเด็กกทม.เอง และเพื่อนต่างจังหวัด ได้มาอยู่หอพักย่านสถาบันร่วมกัน ความรู้สึกของการเรียนแบบแคมปัสมันส่งผลให้เราใกล้ชิดและอบอุ่นขึ้น การมีสายสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนิทกันนี้ เลยทำให้วิศวะลาดกระบังเหนียวแน่น และเข้าถึงทุกวงการสาขาอาชีพ และจากการที่สจล. สร้างบัณฑิตให้มีความเป็นครอบครัวเดียวกัน เมื่อรุ่นพี่ต่าง ๆ จบไป พวกเขาไม่เคยทอดทิ้งสถานที่ให้ความรู้ แวะเวียนมาสร้างสิ่งต่าง ๆ และแชร์ประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง หลายคนคงคุ้นชินกับชื่อ ‘ตึกโหล’ หรือ ‘ดาดฟ้าตึกภาคเครื่องกล’ ที่เสมือนแลนด์มาร์คชาววิศวะลาดกระบัง แต่ตอนนี้เรามีสถานที่ที่พี่คิดว่าไม่น่าจะมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ไหนมี เช่น โรบอตแลป ห้องทดลองด้านโรบอติกและเอไอ ที่เปิดให้นักศึกษาที่อยากจะเพิ่มเติมความรู้เข้ามาใช้บริการได้ฟรี พร้อมกับอุปกรณ์ที่ครบครันในการสร้างสรรค์นวัตกรรม จากทั้งเทคโนโลยีของสจล. และของพาร์ทเนอร์ครับ
อย่างที่ทราบกันดีครับว่าวิชาเรียนแต่ละตัวของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ค่อนข้างลึกและต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับโจทย์มาก การทำโจทย์ซ้ำ ๆ ทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ กับทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าพื้นฐานแน่น เราก็สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ครับ สำหรับที่วิศวะ ลาดกระบัง ค่อนข้างเปิดกว้างด้านการเรียนมากครับ โดยจะมีวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิศวะในทุกสายงาน หรือวิชาแกนคณะ และวิชาภาคที่เจาะลึกเฉพาะสาขา และในทุก ๆ การสอบจะเป็นอะไรที่ท้าทายนักศึกษาวิศวะอย่างมาก เพราะเราแทบจะอ่านหนังสือแบบ 24 ชั่วโมงกันเลยครับ จนเหมือนกลายเป็นประเพณีอ่านข้ามคืนของเด็กวิศวะลาดกระบังไปแล้วครับ ซึ่งในช่วงนั้นก็จะสามารถพบเจอนักศึกษาหมีแพนด้าได้ตามใต้ตึกโหล โรงอาหาร C หรือห้องโปรเจค นอกจากนี้ ยังมีการฝึกงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยพาร์ทเนอร์ สำหรับคนที่สนใจ และโครงการโปรเจคเดย์ก่อนจบ ที่เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาได้แสดงศักยภาพ ในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ และในหลายชิ้นงานถูกพัฒนาและต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมจริงอีกด้วย
เชื่อว่าหลาย ๆ คนมีความฝันและความตั้งใจในการสอบเข้าคณะในฝัน พี่ก็เช่นกันครับ ที่อยากเข้ามาศึกษาวิศวะ ลาดกระบังมาก ๆ โดยเฉพาะภาควิชาที่เรียนอยู่ ตอนสอบเข้าคิดว่ามันคือความท้าทายมาก ๆ ด้วยภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับ AI และ Robotic มีเปิดไม่แพร่หลายในไทย และถ้าหากอยากศึกษาเป็นหลักสูตรอินเตอร์ด้วยแล้ว ยิ่งหายากมาก แต่วิศวะ ลาดกระบังก็ตอบโจทย์พี่ ตอนนั้นเตรียมการสอบเข้าด้วยการทำโจทย์ และติวกับเพื่อน ๆ อย่างเป็นประจำ จึงทำให้สอบเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวของวิศวะลาดกระบังได้ แต่สิ่งที่พี่ได้จากที่นี่มากกว่าวิชาความรู้ คือการได้สังคมรอบตัวพี่ ที่เสมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ผู้คนรอบข้าง เพื่อน ๆ อาจารย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง หล่อหลอมตัวพี่ให้เป็นชาวพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก รู้จักการแบ่งปัน รวมถึงใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ศึกษามา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ตามเจตนารมณ์ของสถาบันฯ สุดท้ายนี้ ‘พี่หยาง’ หวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ที่อยากเข้ามาศึกษาวิศวะ ลาดกระบัง ได้รู้เกี่ยวกับสถาบันฯ ของเรา และเมื่อน้อง ๆ ได้ก้าวมาเป็นลูกพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังแล้ว น้องจะมีความสุขกับชีวิตในรั้วมหาลัยแบบพี่ ๆ ครับ
วิชาที่ใช้สอบ
วิศวกรรมศาสตร์ จะใช้คะแนนวิชา GAT ความถนัดทั่วไป, PAT 1 คณิตศาสตร์ และ PAT 3 วิศวกรรมศาสตร์
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากเรียนต่อที่สถาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สามารถดูรายละเอียดหลักสูตร ตรวจสอบคะแนน คุณสมบัติการรับสมัคร และสมัครเข้ารับการคัดเลือก ได้ที่ https://www.reg.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02 – 329 – 8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews
บทความที่เกี่ยวข้อง
แนะนำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
[รีวิว] นิเทศศาสตร์เกษตร สองศาสตร์ที่ไปด้วยกันได้ แชร์การเรียนจากรุ่นพี่ ลาดกระบัง
[รีวิว] เทคโนโลยีชีวภาพ ลาดกระบัง เรียนอะไรบ้าง
[รีวิว] เปิดรั้ว ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสุดคูล กับดินแดนรากฐานนวัตกรรมไทย