เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 62 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้ไปตะลอนสำรวจเส้นทางสถานี MRT เปิดใหม่มาค่ะ แม้ว่าจะให้บริการฟรีตั้งแต่สถานีวัดมังกร ผู้ใช้ MRT อยู่แล้ว เปลี่ยนขบวนได้ที่สถานีหัวลำโพงนะคะ แต่ช่วง หัวลำโพง – วัดมังกร ค่าโดยสาร 16 บาทค่ะ ซึ่งถ้ามีบัตรเติมเงินอยู่แล้ว ก็ใช้บัตรนั้นแตะเข้าได้เลยทุกสถานี โดยไม่คิดสตางค์ตั้งแต่ช่วง วัดมังกร – ท่าพระ ค่ะ สมมุติว่าเรานั่งตั้งแต่ ศูนย์ราชการนนทบุรี – สนามไชย ก็จะคิดค่าโดยสารแค่ช่วง ศูนย์ราชการนนทบุรี – วัดมังกร เท่านั้นค่ะ
สถานีแรกลงรถมาก็ป๊ะกับสีแดงสีทองอันเป็นสีมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีนและลวดลายจีน ๆ ตั้งแต่เสาไปจนถึง texture พื้นหลังของป้าย บอกชื่อสถานีสีน้ำเงินที่ปกติจะเรียบ ๆ ไม่มีลายอะไร
ขึ้นมาก็เจอภาพประดับผนังตลอดแนวที่สดใสเข้ากับบรรยากาศมาก ๆ ซึ่งทราบจากเจ้าหน้าที่สถานีว่าสนับสนุนโดย Nescafe เป็นการโฆษณาที่เนียนมาก ๆ เลย ตรงนี้คนถ่ายรูปกันเยอะทีเดียว เข้ากับภาพกระเบื้องประดับผนังที่เป็นลายมังกรและดอกบัว ซึ่งมีที่มาจากชื่อวัดมังกรกมลาวาส หรือ เล่ง (龙 – หลง – มังกร) เน่ย (莲 – เหลียน – ดอกบัว) ยี่ (寺– ซื่อ – วัด)
ตรงเพดานโถงตู้ขายตั๋วอัตโนมัติมีมังกรทองตัวเบ้อเริ่มด้วยค่ะ จุดนี้เหมาะแก่การเซลฟี่แบบก้มหน้า ให้กล้องอยู่ล่างแล้วถ่ายขึ้นบนมาก ๆ เลย
นอกจากนี้ที่ผนังตรงทางขึ้น – ลงสู่สถานีก็มีการประดับด้วยงานกระเบื้องเคลือบลายมังกร และเพดานเหนือบันไดก็ออกแบบโดยเล่นกับมิติแสงเงาเป็นคลื่น คล้ายเรากำลังอยู่ใต้น้ำหรือลอดท้องมังกรอยู่ ซึ่งหลาย ๆ คนเชื่อกันว่าจะนำโชคลาภมาให้ ถ้าเคยไปแบบอนุรักษ์นิยมหน่อย ๆ ที่ สะพานมังกร จ.ระยอง หรือแบบระทึกใกล้ชิดธรรมชาติที่ ถ้ำเลเขากอบ จ.ตรัง กันมาแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาที่นี่ ลอดท้องมังกรสไตล์โมเดิร์นใน MRT วัดมังกร แห่งนี้
มีทางออก 3 ทาง
ทางออก 1 ถนนแปลงนาม ศาลเจ้ากวางตุ้ง กว๋องสิวมูลนิธิ วงเวียน 22 กรกฎาคม
ทางออก 2 ถนนเยาวราช ตลาดเก่า สำเพ็ง โรงเรียนเผยอิง ท่าเรือราชวงศ์
ทางออก 3 วัดมังกรกมลาวาส บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถนนเสือป่า
สถาปัตยกรรมภายนอกก็ยังคงลักษณะตึกแถวกลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบ ป้ายตรงชานชาลาในรูปล่างนี้ จากวัดมังกรไปถึงท่าพระใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที และจากวัดมังกรไปหัวลำโพงเพียง 2 นาทีเท่านั้น โดยออกทุก ๆ 8 นาที ช่วงเย็นเมื่อวานก็ไปนั่งมา คนไม่เยอะด้วยค่ะ ว่าง ๆ มาเที่ยวกันได้เลย
ถัดจากสถานีวัดมังกรกลางย่านไชน่าทาวน์ เยาวราช แล้วก็เข้าสู่สถานีสามยอด ซึ่งเป็นประตูสู่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่แม้แต่ชื่อ “สามยอด” นี้ก็มาจากชื่อประตูพระนครจริง ๆ ในสมัยก่อน อยู่ไม่ไกลจากประตูสำราญราษฎร์ หรือประตูผีค่ะ
ภายในสถานีประดับด้วยภาพถ่ายเก่า ๆ ในย่านนี้ซึ่งคึกคักมาตั้งแต่ในอดีต โดยออกแบบให้กลมกลืนไปกับรูปแบบอาคารดั้งเดิม ชิโน – โปรตุกีสที่ฮิตกันในสมัย ร.5 แม้แต่ประตูก็เป็นบานเฟี้ยม แต่ติดแอร์นะคะ ไม่ต้องกลัวร้อนค่ะ
มีทางออก 3 ทาง
ทางออก 1 ถนนมหาไชย สวนรมณีนาถ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม ป้อมพระกาฬ
ทางออก 2 พาหุรัด วัดซิกข์ สะพานเหล็ก สะพานหัน
ทางออก 3 ดิโอลด์สยามพลาซ่า วัดสุทัศนเทพวราราม โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า
จากนั้นก็จะถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในไทยคือ สถานีสนามไชย ซึ่งมีการผสมผสานศิลปกรรมไทยอย่างงดงามลงตัว โดยเฉพาะโถงทางเดินก่อนลงสู่ชานชาลา ที่ประดับด้วยเสาบัวแวงปิดทองคำเปลว เพดานประดับดาวเพดานสีทอง ลวดลายไทยที่เสาแต่ละต้น
แม้แต่ผนังก็มีการจำลองแบบประตูกำแพงพระนครในสมัยโบราณดูเป็นเอกลักษณ์ ให้ผู้โดยสารได้รู้สึกว่าเราเข้าสู่เกาะรัตนโกสินทร์กันแล้ว
สถานีนี้มีทางออกมากถึง 5 ทาง
ทางออก 1 มิวเซียมสยาม วัดโพ ท่าเตียน วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง
ทางออก 2 โรงเรียนวัดราชบพิธ บ้านหม้อ
ทางออก 3 สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
ทางออก 4 ปากคลองตลาด โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ทางออก 5 ท่าเรือราชินี โรงเรียนราชินี
ตรงทางขึ้นเป็นกระจกให้แสงสว่างจากภายนอกมาช่วยในการประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง และก็ยังไม่ลืมที่จะประดับลายไทยเก๋ ๆ ไว้เป็นสัญลักษณ์ลูกเล่นที่เห็นแล้วต้องรู้แน่ ๆ ว่านี่สถานีสนามไชยนั่นเอง
จากสถานีสนามไชยเราก็จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่สถานีอิสรภาพ สถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรกในฝั่งธนบุรี ซึ่งมีการประดับประดาด้วยหงส์ทอง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่สำคัญในย่านนี้ ซึ่งก็คือ วัดหงส์รัตนาราม นั่นเอง
มีทางออก 2 ทาง
ทางออก 1 ซอยอิสรภาพ 34 วัดหงส์รัตนาราม วัดอรุณราชวราราม ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ทางออก 2 ซอยอิสรภาพ 23 วัดราชสิทธาราม
จากสถานีอิสรภาพไปเพียงนาทีกว่า ๆ ให้มองกระจกรถไว้ดี ๆ นะคะ เพราะวิวจะเปลี่ยนไปเนื่องจากรถจะเคลื่อนขึ้นสู่ด้านบนเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินไปยังสถานีท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายที่เปิดให้ทดลองนั่งฟรีในช่วงนี้ค่ะ
พื้นที่บริเวณสถานีท่าพระใหญ่มากเลย นอกจากจะไปยังสถานีหัวลำโพงและสถานีหลักสองได้แล้ว ที่นี่เป็นจุดเชื่อมไปสถานีจรัญฯ 13 ที่จะวกกลับไปสถานีเตาปูนในอีกด้านหนึ่งด้วยนะคะ
มีทางออก 5 ทาง
ทางออก 1 ซอยเพชรเกษม 10/2 ตลาดท่าพระรุ่งเรือง
ทางออก 2A ซอยเพชรเกษม 11 โรงเรียนสายประสิทธิ์วิทยา สมาคมชาวบางแค
ทางออก 2B ซอยรัชดาภิเษก 25 สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ วัดประดู่ในทรงธรรม ตลาดท่าพระ
ทางออก 3 ซอยเพชรเกษม 12 บี.ที. อพาร์ตเมนต์ รถรับส่งฟรีไปซีคอนบางแค
ทางออก 4 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 1 ซอยคริสตจักร วัดท่าพระ
ช่วง 29 ก.ค. – 28 ก.ย. 62 นี้ หากมีเวลาหรือจะเดินทางไปไหนมาไหนในเส้นทางเหล่านี้ก็แวะเวียนไปทดลองใช้บริการ MRT เปิดใหม่ แชะรูปสวยๆ กับสถานีที่ได้รับการออกแบบไว้อย่างงดงามกันได้ เปิดทุกวันเลยนะคะ เวลา 10.00 - 16.00 น. ค่ะ