เพราะภาพและตัวหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีไว้ดึงความสนใจจากเด็ก ๆ เท่านั้น แต่หากเราเลือกใช้นิทานให้ถูกจังหวะ ถูกเวลา และถูกเรื่องราว นิทาน จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างนิสัยที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยหละค่ะ
ทำไมนิทาน จึงมีอิทธิพลต่อเด็ก ๆ ได้มากมายนัก และทำไมเหล่านักวิชาการ จึงส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะรักการอ่านตั้งแต่แบเบาะ นี่คือคำตอบของคำถามนี้ค่ะ
สำหรับเด็กเล็ก ๆ นิทานเป็นตัวกระตุ้นทักษะทางสายตา การฟัง และเพิ่มคลังคำศัพท์ และนิทานบางเล่ม ก็ยังช่วยเสริมพัฒนาการด้านผิวสัมผัสได้อีกด้วย และเมื่อโตขึ้น เรื่องราวในนิทาน ก็เป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาได้เป็นอย่างดีเลยหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านคำง่าย ๆ จากในหนังสือ การเรียนรู้เรื่องคำคล้องจอง คำเหมือน คำต่าง ความเข้าใจเรื่องลำดับของเหตุการณ์ เป็นต้น
ด้วยความน่าสนใจของนิทาน ประกอบกับเรื่องราวที่มักจะได้รับการร้อยเรียงมาให้มีความน่าติดตาม ทำให้เด็ก ๆ เกิดสมาธิขึ้นจากการอ่านได้อย่างง่ายดาย และเป็นสมาธิที่มาจากความต้องการภายในของเด็กเอง นั่นคือ กระหายใคร่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ในแต่ละหน้ากระดาษจะมีสิ่งใดที่น่าสนใจซ่อนอยู่บ้าง หรือพ่อแม่และคุณครู จะใช้น้ำเสียงแบบไหนเมื่อไปเปิดเจอภาพนั้น ภาพนี้ เป็นต้นค่ะ
เสน่ห์อย่างหนึ่งของนิทานก็คือ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่รู้จบ เช่น นิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก เด็ก ๆ มักจะไม่เบื่อแม้จะเป็นเล่มเดิมที่อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะในทุก ๆ ครั้งที่อ่าน เด็กอาจจะมีจินตนาการต่อสิ่งเหล่านั้นไม่เหมือนกัน บ้างเป็นเพราะไปเจอของจริงมาแล้ว บ้างเป็นเพราะน้ำเสียงของผู้อ่านที่เปลี่ยนไป หรือบ้างอาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในตอนอ่านที่ไม่เหมือนเดิม และสำหรับเด็กโต นิทานเรื่องเดิม อาจจะถูกแต่งเติมเป็นเรื่องราวใหม่ ๆ ในสมองอันสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ และบางครั้ง เด็ก ๆ ก็อาจจะเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านั้นกับชีวิตของตนเองก็ได้ค่ะ
เรื่องนี้ครูพิมคิดว่า ผู้มีประสบการณ์ตรงทุกท่านคงเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดีค่ะ เพราะทุกครั้งที่หนังสือนิทานถูกเปิดอ่าน เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของเด็ก ๆ มักจะตามมาเสมอ ช่วงเวลาของการอ่านนิทาน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน และที่พิเศษสุด ๆ ก็คือ บางครั้งในระหว่างการฟังและเล่านิทาน เรามักจะได้ยินเรื่องราวน่ารัก ๆ และได้เห็นพฤติกรรมน่าเอ็นดูของเจ้าตัวน้อยไปด้วย นิทานจึงเป็นเสมือนสื่อกลางในการสร้างช่วงเวลาดี ๆ ให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้อย่างง่ายดายนั่นเองค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก