พระคันธารราษฎร์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แบบวีราสนะ แสดงปางขอฝน ด้วยการยกพระหัตถ์ขวา ขึ้นกวักเรียกฝน และหงายพระหัตถ์ซ้ายรองรับฝน พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ เรียว กับพระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา พระเศียรประดับด้วยขมวดพระเกศาเรียงตามแนวตั้ง มีเกตุมาลา และรัศมีรูปดอกบัวตูมเกลี้ยง องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ ห่มเฉียงเปิดพระอังสามีชายอุตราสงค์พาดคลุมบนพระอังสาซ้าย พระพุทธรูปประทับนั่ง เหนือปัทมาสน์ ประกอบด้วย กลีบบัวคว่ำ และกลีบบัวหงายเหนือฐานแข้งสิงห์
ในแค้วนคันธาระ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีพระยานาคตนหนึ่ง ชื่อ เอลาปัตตร์ หรือ อรวาล แต่เดิมนั้น พระยานาคตนนี้ ได้ทำให้เกิดอุทกภัยในแคว้นนั้น แต่ต่อมาเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว จึงเป็นผู้ให้น้ำเพื่อทำให้แคว้นนั้นเกิดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกพระพุทธรูปปางขอฝนว่า “พระคันธาราษฎร์” แต่นั้นมา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระคันธารราษฎร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์
ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระคันธารราษฎร์ ขึ้นอีกองค์หนึ่ง
เพื่อพระราชทานความสวัสดีแก่ประชาชน ให้ได้รับผลอันพึงประสงค์จากเกษตรกรรมและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลปัจจุบัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพิธีมหามงคลนี้
เพื่อพสกนิกรทั้งหลายได้กราบสักการะเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ เป็นครั้งแรก