แน่นอนว่าทุกคนคงจะเคยกินมะนาว แม้ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ และสิ่งที่ตามมาก็คือ ทุกคนคงจะมีอาการย่นหน้าบิดเบี้ยวกันเป็นแถว มีใครทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดเราจึงมีท่าทางดังกล่าวเมื่อเราได้รับรสเปรี้ยว วันนี้เราจะมาพูดในเรื่องนี้กัน
อาหารที่มีรสเปรี้ยวจะมีปริมาณของกรด (Acidity) อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งรสเปรี้ยวนี้จะส่งผลให้เราย่นหน้า ย่นตา รวมทั้งบีบริมฝีปากเข้าหากัน และเมื่อบางสิ่งที่มีรสชาติคล้ายกับมะนาว น้ำส้มสายชู หรือผลไม้ที่ยังไม่สุก สัมผัสถูกลิ้น สมองจะได้รับสัญญาณว่าเรากำลังกินสิ่งที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายให้เราระวังก็เป็นได้
ลิ้นของเรามีปุ่มเล็ก ๆ นับร้อยนับพันปุ่มอยู่ ปุ่มนี้จะเปรียบเสมือนเซนเซอร์ ซึ่งเรียกว่า ปุ่มรับรส (Taste buds) ปุ่มรับรสจะทำหน้าที่บอกรสชาติแก่เรา ไม่ว่าจะเป็น รสหวาน เปรี้ยว เค็ม ขมหรืออูมามิ โดยที่ในแต่ละปุ่มจะประกอบด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่ช่วยในการบอกรสชาติ เมื่ออาหารอยู่ในปาก อาหารจะสัมผัสกับปุ่มรับรส จากนั้นปุ่มรับรสจะส่งสัญญาณไปที่สมองเกี่ยวกับรสชาติที่เรากำลังกินอยู่ และเมื่อปุ่มรับรสได้รับรสเปรี้ยว จะทำให้เราย่นหน้า เนื่องจากรสเปรี้ยวคือความเป็นกรดที่เข้มข้น
การย่นหน้าเมื่อได้รับรสเปรี้ยวมักเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ นั่นหมายความว่าคุณสามารถย่นหน้าโดยไม่ต้องพยายาม และมักจะเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายมีสัญชาตญาณที่จะไม่กินของอันตราย แน่นอนว่าไม่ใช่อาหารเปรี้ยวทุกชนิดจะเป็นอาหารไม่ดี แต่อาหารที่มีรสเปรี้ยวบางชนิดอาจทำให้เราป่วยได้ เช่น อาหารบูด นมบูดหรือผลไม้ที่ยังไม่สุก ดังนั้นแล้วปฏิกิริยาการย่นหน้าเมื่อร่างกายได้รับรสเปรี้ยว อาจจะเป็นเเสียงเตือนจากร่างกายว่าอาหารสิ่งนี้อาจเป็นอันตรายต่อเราก็เป็นได้
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังหาคำตอบในเรื่องนี้ได้ยังไม่แน่ชัดนัก แต่ก็มีการสันนิษฐานไว้ว่ามี 3 สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการย่นหน้าเมื่อได้รับรสเปรี้ยว นั่นก็คือโปรตอน (Proton), วิตามินซี (Vitamin C) และผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ
รสเปรี้ยวที่ทุกคนรู้จัก จะสัมพันธ์กับความเป็นกรด ในทางเคมี ความเปรี้ยวคือสิ่งที่ร่างกายตอบสนองว่า ในขณะนี้ มีโปรตอนอิสระในปากเป็นจำนวนมาก แม้ว่าโปรตอนไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เกิดรสเปรี้ยวโดยตรง แต่ร่างกายได้พัฒนาให้มีการประมวลการเกิดลักษณะดังกล่าวให้เป็นรสเปรี้ยวต่างหาก
เพื่อที่จะดำรงชีวิต ร่างกายของมนุษย์ต้องการกรดแอสคอบิก (Ascorbic acid) หรือที่รู้จักกันในนามของ วิตามินซี นั่นเอง วิตามินซีจะช่วยให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ แต่ถ้าหากขาดวิตามินซี อาจทำให้เป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน หรือโรคที่ถึงแก่ชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย
เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่จะได้รู้ว่า ในสมัยก่อนร่างกายของบรรพบุรุษของเราสามารถผลิตวิตามินซีได้เอง เนื่องจากมียีนที่ทำหน้าที่ในการผลิตวิตามินซี แต่เราไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยีนที่ทำหน้าที่ในการผลิตวิตามินซีเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ไม่สามารถผลิตวิตามินซีได้ และเหตุผลที่ทำให้ยีนในการผลิตวิตามินซีไม่ทำงาน คงมาจากการที่คนในรุ่นหลังบริโภคผลไม้และอาหารต่าง ๆ ที่มีปริมาณวิตามินซีสูง เมื่อรวมเข้ากับวิตามินซีที่ร่างกายผลิตออกมา ทำให้ร่างกายมีวิตามินซีมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ร่างกายหยุดสร้างวิตามินซีออกมาในที่สุด
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวังว่า บทความนี้คงจะช่วยไขข้อข้องใจของทุกคนได้ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ