แถบโมเบียสค้นพบโดยนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน นามว่า ออกัสต์ แฟร์ดินัน โมเบียส (August Ferdinand Mobius) และโจฮันน์ เบเนดิกต์ ลิสติง (Johann Benedict Listing) แถบโมเบียสมีลักษณะอย่างไรกันนะ ? อยากให้คุณผู้อ่านลองสร้างแถบโมเบียสกัน สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยตัดกระดาษเป็นแถบยาว จากนั้นนำปลายทั้งสองข้างมาต่อกัน แต่ก่อนที่จะนำปลายมาต่อกันนั้นให้บิดปลายข้างหนึ่งไป 180 องศาแล้วจึงต่อปลายทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน เพียงเท่านี้เราก็จะได้แถบโมเบียสแล้วจ้า
มีพื้นผิวเพียงด้านเดียวเป็นอย่างไร ? ลองนึกภาพตามนะคะ ถ้าสมมติว่าเราเอากระดาษมาต่อปลายให้เป็นวงปกติ โดยไม่มีการบิดปลายแบบที่ทำแถบโมเบียส วงกระดาษนั้นก็จะมีพื้นผิวสองด้าน คือ ด้านในและด้านนอก หากเราลองปล่อยมดตัวหนึ่งไว้ที่ผิวด้านในของวงกระดาษ แล้วโรยน้ำตาลไว้ผิวด้านนอกของวงกระดาษ จากนั้นปล่อยให้มดเดินไป มดจะไม่สามารถเดินไปเจอน้ำตาลได้เลย เว้นเสียว่ามันจะไต่ข้ามขอบกระดาษไปยังฝั่งด้านนอก หรือถ้าเราจะทาสีวงกระดาษ เมื่อทาสีด้านในเสร็จ เราก็ต้องยกดินสอสีข้ามขอบกระดาษไปเพื่อทาสีด้านนอกนั่นเอง
แต่แถบโมเบียสนั้นแตกต่างไปจากวงกระดาษแบบธรรมดา มดจะสามารถเดินไปหาน้ำตาลได้โดยไม่ต้องไต่ข้ามขอบกระดาษไปอีกฝั่ง เราสามารถทาสีแถบโมเบียสได้เต็มทุกด้านโดยไม่ต้องยกดินสอสี wow! ถ้าไม่เชื่อจะลองทำดูก็ได้นะคะ ฮ่า ๆ
แล้วมีขอบเดียวล่ะ เป็นอย่างไร ? ถ้าเป็นวงกระดาษธรรมดาจะมีขอบสองขอบ ได้แก่ ขอบบนและขอบล่าง แต่แถบโมเบียสจะมีเพียงขอบเดียว กล่าวคือ ถ้าเราลองใช้นิ้วแตะขอบ ณ จุด ๆ หนึ่ง เมื่อเราลากนิ้วตามขอบไปเรื่อย ๆ เราจะกลับมายังจุดเดิม โดยนิ้วเราได้ลากผ่านขอบทุกขอบโดยไม่ได้ยกมือเลย
นอกจากแถบโมเบียสจะมีด้านเดียวและขอบเดียวแล้ว ยังมีความมหัศจรรย์อย่างอื่นอีก เช่น เมื่อนำกรรไกรมาตัดตามแนวเส้นรอบวงของแถบโมเบียส จะได้แถบโมเบียสวงเดียวที่มีเส้นรอบวงยาวเป็นสองเท่าของเดิม ซึ่งแตกต่างจากวงกระดาษแบบธรรมดาที่จะได้วงกระดาษขนาดเท่ากันสองวงแยกออกจากกัน
ปัจจุบันมีผู้นำแถบโมเบียสมาประยุกต์ใช้งาน คือ สายพานในเครื่องจักรกล เนื่องจากสายพานแถบโมเบียสจะมีอายุการใช้งานมากกว่าสายพานแบบปกติ แล้วมันมีอายุใช้งานมากกว่ายังไงนะ ? เพราะสายพานแบบปกติจะรับแรงเสียดทานที่ด้านในเพียงด้านเดียว ทำให้หน้าที่ได้รับแรงนั้นสึกหรอเร็ว แต่สายพานแถบโมเบียสจะรับแรงเสียดทานบนผิวทั้งสองด้านได้เท่า ๆ กัน จึงมีอายุการใช้งานมากกว่า