ตามหลักโภชนาการ เราควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพื่อสุขภาพที่ดีนั้น ได้แบ่งประเภทของอาหารหลักออกเป็น 5 หมู่ โดยที่ข้าวและแป้งถูกจัดให้อยู่ในหมู่ที่ 2 คือ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีอาหารจำพวก เผือก มัน ฟักทอง ข้าวโพด น้ำตาล เป็นต้น ที่ถูกจัดอยู่ในหมู่นี้ด้วย
คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารสำคัญที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ให้ความอบอุ่นและช่วยให้เราเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ หากร่างกายขาดสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกหงุดหงิด สมองไม่สดใส เนื่องจากสมองและกล้ามเนื้อต้องการกลูโคส (Glucose) ที่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวจากคาร์โบไฮเดรตมาช่วยในการทำงาน
ในระบบทางเดินอาหารอวัยวะที่มีหน้าที่ในการย่อยสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต นอกจากปากที่มีต่อมน้ำลายซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์อะไมเลสแล้ว ยังมีลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) ที่ทำหน้าที่ในการย่อยคาร์โบไฮเดรตด้วย โดยที่ตับอ่อนจะหลั่งเอนไซม์อะไมเลสมาที่ลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ จากนั้นผนังของลำไส้เล็กจะหลั่งเอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharase) ได้แก่ มอลเทส (Maltase), ซูเครส (Sucrase) และแล็กเทส (Lactase) สุดท้ายแล้วคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยจนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide)
ในกระบวนการย่อยแป้งภายในปากนั้น จะมีกระบวนการย่อยอาหารเชิงกล ซึ่งก็คือการใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารให้มีขนาดเล็กลง นอกจากนี้ยังมีการย่อยอาหารเชิงเคมี โดยเอนไซม์ในปากที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) หรือไทยาลีน (Ptyalin) ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ใช้เรียกเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำลาย (Salivary Gland)
ขณะที่เราเคี้ยวข้าวหรือแป้งอยู่นั้น เอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายจะทำหน้าที่ย่อยข้าวหรือแป้งให้กลายเป็นมอลโทเดกซ์ทริน (Moltodextrin) ซึ่งเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ที่มีน้ำตาลกลูโคสต่อกันเป็นสายสั้น ๆ หรือกลายเป็นน้ำตาลมอลโทส (Moltose) ซึ่งน้ำตาลมอลโทสเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide) เหมือนน้ำตาลซูโครส (Sucrose) หรืออีกชื่อหนึ่งคือน้ำตาลทราย และน้ำตาลมอลโทสนี่เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าข้าวหรือแป้งที่กินเข้าไปมีรสชาติหวาน