วันนี้เรามีวิธีง่าย ๆ ที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้เพื่อช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจในการเรียนให้กับลูกได้มาฝากกันค่ะ
ก่อนที่จะสอนเรื่องอะไร พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจถึงช่วงวัย และพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกเสียก่อน เพราะสมองของลูกจะจัดเก็บข้อมูล โดยเรียงจากง่ายไปหายาก เรียงจากสิ่งที่คุ้นเคยไปหาสิ่งที่มีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้นหากพ่อแม่สอนในเรื่องที่ลูกยังไม่เกิดความเข้าใจ คงเป็นไปได้ยากที่ลูกจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ และจดจำในเรื่อง ๆ นั้นได้ เช่น ถ้าจะสอนลูกนับเลข ควรต้องรู้ว่าลูกรู้จักตัวเลขต่าง ๆ ดีหรือยัง หรือถ้าจะสอนลูกแต่งประโยค ควรดูว่าลูกมีความพร้อมในการสะกดคำต่าง ๆ แล้วหรือไม่
ในการสอนบทเรียนต่าง ๆ ให้ลูกนั้น พ่อแม่ควรให้เวลาลูกในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ต่อบทเรียนแต่ละเรื่องให้ดีเสียก่อน โดยแบ่งแยกเรื่องราวที่ต้องเรียนเป็นเรื่อง ๆ เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความสับสน และค่อย ๆ สอนเพิ่มขึ้น เมื่อลูกเกิดความเข้าใจในเรื่องที่ได้สอนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดประสิทธิภาพในการจดจำและนำไปใช้ได้มากขึ้น
เพราะ “ความเข้าใจ” คือสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตว่าลูกมีความเข้าใจในบทเรียนเรื่องใดแล้ว และพยายามสอนต่อยอดจากเรื่อง ๆ นั้น ไปสู่บทเรียนที่ยากขึ้น การสอนเรื่องที่มีความยากเกินไป นอกจากไม่ทำให้ลูกเกิดความเข้าใจแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจ และทำให้ลูกเบื่อหน่ายในการเรียนอีกด้วย
เมื่อลูกเรียนรู้บทเรียนใดแล้วนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ โดยการหมั่นให้ลูกทบทวนในบทเรียนเดิม โดยการอ่านหรือทำกิจกรรมฝึกทักษะในเรื่องนั้น ๆ อยู่เสมอ การทำซ้ำ ย้ำ ทวน จะช่วยให้สมองเกิดความจดจำและนำไปใช้ จนสร้างเป็นความเข้าใจ และเป็นฐานในการเรียนรู้เรื่องที่ยากขึ้นได้เป็นอย่างดี
การที่จะให้ลูกเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีนั้น พ่อแม่อาจหากิจกรรมใกล้ตัว ที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในการเรียนได้ง่ายขึ้น เช่น พ่อแม่อาจสอนลูกนับเลขได้ จากการแบ่งเค้กในวันเกิด หรือสอนลูกสะกดคำผ่านการอาจป้ายต่าง ๆ เวลานั่งรถ ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้ลูกเกิดความสนุก และซึมซับทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.