ในวันหนึ่ง ๆ คนปกติจะขับถ่ายปัสสาวะประมาณ 1,000 - 1,500 มิลลิลิตร โดยน้ำปัสสาวะที่ถูกกรองออกมาจากไตนั้น ก็เพื่อขับสารต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการหรือมีมากเกินพอ และเพื่อควบคุมสมดุลปริมาณของเหลวในร่างกาย ซึ่งร่างกายของคนปกติจะสามารถแบ่งองค์ประกอบทางเคมีของปัสสาวะได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. น้ำประมาณ 98% ของปริมาตรของน้ำปัสสาวะที่เราขับถ่ายออกมา ซึ่งปริมาณที่ขับถ่ายออกมาก็ขึ้นอยู่กับสภาพของของเหลวในร่างกายแต่ละคน
2. เกลืออนินทรีย์ ได้แก่ เกลือของไอออนบวก (Cation) เช่น Na+, K+, Ca2+, Mg2+ และเกลือของไอออนลบ (Anion) เช่น Cl-, PO43-, SO42-, NO3-, HCO3- เป็นต้น โดยปริมาณที่ขับถ่ายก็ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารที่มีปริมาณส่วนประกอบของเกลือในแต่ละวันด้วยเช่นกัน
3. สารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน ยา สารพิษ หรือสารที่ร่างกายไม่ต้องการแล้ว เป็นกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายเพื่อขจัดสารพิษตกค้างที่สะสมอยู่ในเลือดออก (Detoxification) ได้แก่ ยูเรีย (Urea), กรดยูริก (Uric acid), ครีอะทีน (Creatine), กรดฮิปพูริก (Hippuric acid) เป็นต้น
ในคนปกติส่วนใหญ่แล้วปัสสาวะอาจไม่มีกลิ่น (Urine odor) หรือมีกลิ่นคล้ายแอมโมเนียจาง ๆ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยูเรียที่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้จากการสลายของโปรตีนไปเป็นแอมโมเนียนั่นเอง เพราะฉะนั้นปริมาณของยูเรียที่จะถูกขับออกทางปัสสาวะก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรตีนในอาหารที่เรารับประทานไปแต่ละวันด้วยเช่นกัน หากในปัสสาวะมีความเข้มข้นของยูเรียสูงอาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นแอมโมเนียมากกว่ากลิ่นปัสสาวะในสภาวะปกติ
อย่างไรก็ตามกลิ่นของปัสสาวะก็ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารด้วย เช่น อาหารประเภทหัวหอม สะตอ ชะอม หน่อไม้ฝรั่ง เครื่องเทศ หรือแม้แต่การรับประทานวิตามินหรือยาบางชนิดก็ส่งผลต่อกลิ่นของปัสสาวะเช่นเดียวกัน เช่น เพนิซิลลิน หรือสังเกตได้จากการดื่มกาแฟประเภทต่าง ๆ เมื่อเราขับถ่ายปัสสาวะออกมาจะได้กลิ่นคล้ายกับกาแฟที่เราดื่มเข้าไป หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection : UTI) ซึ่งเกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็ส่งผลต่อกลิ่นของปัสสาวะด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวันก็ส่งผลต่อกลิ่นของปัสสาวะด้วย เนื่องจากการดื่มน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ จะทำให้ไตดูดน้ำกลับเพื่อรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย ส่งผลให้สารต่าง ๆ ในปัสสาวะเข้มข้นขึ้นและเกิดกลิ่นตามสารนั้น ๆ ได้ชัดเจน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ปัสสาวะบอกอะไรได้บ้าง
- สุขภาพเป็นยังไง สีปัสสาวะ บอกได้
- ของเสียจากสิ่งมีชีวิต
- สีของปัสสาวะมาจากไหน