โดยปกติแล้วสีของอุจจาระเป็นสีน้ำตาลเกิดจากสารที่มีชื่อว่า "บิลินูบิน (Bilirubin)" ซึ่งมีสีน้ำตาลอมส้ม ถูกสร้างมาจากการสลายตัวของฮีโมโกลบินที่อยู่ในเซลล์เม็ลเลือดแดงภายในตับ นอกจากนี้สีของอุจจาระยังมีสีของน้ำดี (Bile) ปนอยู่ด้วย น้ำดีนี้มีสีเหลืองเขียว สร้างมาจากตับและถูกกักเก็บไว้ในถุงน้ำดี (Gall bladder) มีหน้าที่ในการช่วยในการแตกตัวของอาหารจำพวกไขมันที่ลำใส้เล็กส่วนต้น
เมื่ออาหารเดินทางมาถึงที่ลำไส้เล็กส่วนต้นแล้ว น้ำดีที่ถูกกักเก็บไว้จะหลั่งมาช่วยในการแตกตัวของอาหารประเภทไขมัน เพื่อให้น้ำย่อยสามารถย่อยไขมันได้ โดยที่สารบิลินูบินจากตับจะถูกผสมเข้ากับน้ำดี และเมื่อกระบวนการย่อยอาหารผ่านไป จะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีน้ำตาลนั้นเอง หากระบบย่อยอาหารใช้ระยะในการย่อยอาหารตามความเร็วปกติจะทำให้อุจจาระมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงเข้ม แต่ถ้าหากระบบย่อยอาหารใช้ระยะในการย่อยอาหารเร็วกว่าปกติจะทำให้อุจจาระมีสีเขียว
นอกจากนี้สีของอุจจาระยังขึ้นอยู่กับสีของอาหารที่เรารับประทานเข้าไปได้อีกด้วย เช่น อุจจาระสีเขียวบางครั้งก็เกิดจากการรับประทานผักที่มีสีเขียว อุจจาระสีแดงจากการรับประทานบีทรูท แครนเบอร์รี่ น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น ซึ่งสีส่วนใหญ่เกิดจากกากใยของพืชผักที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้นั้นเอง ตัวยาบางชนิดก็สามารถทำให้อุจจาระเปลี่ยนสีได้เช่นกัน เช่น ยาที่ได้รับหลังจากบริจาคเลือด นั้นก็คือยาเสริมธาตุเหล็ก เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้อุจจาระมีสีดำเข้ม เป็นต้น
หากพบว่าสีอุจจาระของตนเองมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ลองหยุดรับประทานอาหารเหล่านั้นดู 2 – 3 วัน หากยังมีความผิดปกติอยู่และไม่สามารถหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและหาวิธีการรักษา
อย่างไรก็ดีเราควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ พร้อมกับออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีจากภายในสู่ภายนอกและป้องกันความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต