น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ยังมีสาขาแบ่งย่อยออกไปอีก อย่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มี 3 สาขาวิชา สาขาวิชาการบัญชี, สาขาวิชาการเงิน, สาขาวิชาการตลาด ในบทความนี้ พี่ปุ๋ย-นิธิพร อู๋ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการเงิน (Finance) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาเจาะลึกข้อมูลการเรียนในคณะบัญชีฯ ให้น้อง ๆ ได้ฟังกันค่ะ
แรงบันดาลใจในการเลือกคณะนี้ คือตอนประมาณ ม. 4 - 5 เป็นคนที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ และก็อยากเป็นนักธุรกิจในอนาคต การเป็นนักธุรกิจนั้นก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของแผนธุรกิจ และการลงทุนด้วย เพราะก่อนจะมีธุรกิจชิ้นนึงเราจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนก่อน เราต้องรู้การจัดการสินทรัพย์ การบริหารสินเชื่อ และการลงทุนในอุตสาหกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ การเรียนในสาขาการเงินเลยตอบโจทย์กับความต้องการของเรามาก ๆ
ปีแรกจะเรียนวิชาที่เราต้องรู้เบื้องต้นทั้งหมด พวกการบัญชี การเงิน และการตลาด (Accounting, Finance and Marketing) มันจะต่างกับจุฬาฯ ที่จุฬาฯให้เลือกปี 2 แต่มธ.ให้เลือกตอนปี 1 เลย ถ้าไม่ชอบค่อยเปลี่ยนได้หลังจากผ่านปี 1 ไปแล้ว เหมือนเป็นการตัดสินใจครั้งที่หนึ่งที่เราพอมีข้อมูลคร่าว ๆ ให้เลือก
ปี 1 จะมีวิชาบังคับกับวิชาคณะ วิชาคณะยกตัวอย่างเช่น Introduction to Marketing MK201, Introduction to Finance FN201, Introduction to Accounting AC201, Human Resource Management HR201 ก็คือจะเป็นพวกวิชาพื้นฐานของแต่ละสาขาทั้งหมดเลย
ปี 2 เราจะเริ่มลงลึกไปในสาขานั้น ๆ แล้ว สำหรับคนที่เลือกสาขาการเงินอย่างเรา จะมีวิชาเด่น ๆ ที่ต้องเรียน เช่น FN 211 Financial Markets, FN 311 Financial Management เป็นการบริหารเงินทุนในองค์กร, FN 312 Investments เรียนว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอย่างไร ซื้อหุ้นต้องซื้ออย่างไร หาราคาหุ้นว่าจุดไหนควรซื้อ, FN 313 International Financial Management เรียนพวกเรื่อง อนุพันธ์ เงินเฟ้อ เงินฝืด อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และวิธีการจัดการเวลาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ซึ่งเป็นวิชาเรียนรวมกับสาขาอื่น ๆ ตอนปี 2
นอกจากนั้นยังมีวิชา BA 201 Business Law กฎหมายธุรกิจ, EC 213 Introductory Microeconomics ดูอุปสงค์ อุปทานของตลาด, และ EC 214 Introductory Macroeconomics ดูเรื่องเศรษฐกิจในภาพใหญ่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก เช่น จีดีพี อัตราการว่างงาน และรายได้ทั้งประเทศ
ปี 3 มีไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศด้วย ส่วนมากไปกันทุกคน สลับ ๆ กันไป บางคนไปเทอมแรก บางคนไปเทอมสองแล้วแต่เรา ส่วนมากไปที่ยุโรป อเมริกาจะเยอะ จะมีวิชาให้เลือกเยอะมาก เราก็สามารถเรียนวิชาอะไรก็ได้ที่เหมาะกับตัวเองและรองรับในมหาวิทยาลัยตอนเราโอนย้ายหน่วยกิจกลับมาได้
ปี 4 ส่วนใหญ่ จะเป็นการเน้นที่การเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานในอนาคต ในมหาวิทยาลัยจะมีงาน “Career Exposition” เป็นงานที่บริษัทต่างมาจัดซุ้มงานในห้องประชุม จะมีพวกบริษัทแต่ละสาย ทั้งการบัญชี การเงิน และการตลาด ครบทุกสายเลย ให้เราดูว่าเราชอบ และเหมาะสมกับการทำงานแบบไหน เราก็ลองไปคุยกับพี่ ๆ ในบริษัทนั้น ๆ ดู เพราะแต่ละบริษัทจะมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน
กิจกรรมที่เด่นสุดใน BBA คือ “Case Competition” คือการแข่งขันแผนธุรกิจ กล่าวคือเวลาธุรกิจมีปัญหา เราก็จะให้คนที่เข้าไปแข่ง ไปแก้ปัญหาให้ธุรกิจนั้น ๆ ก็จะเป็นการที่เราได้เอาความรู้ที่เรียนไปไปประยุกต์ใช้ การแข่งขันนี้สามารถสมัครได้ตั้งแต่ปี 1 - 4 ทุกคนสามารถแข่งได้ แต่ก็มีบางรายการที่ทางผู้จัดจะคัดเด็กเพื่อไปแข่งหรือที่เราเรียกเด็กที่ถูกคัดไปแล้วกันว่า “Case Team”
เราได้เจอความเป็นจริงว่าโลกทำงานอย่างไร ระบบการเรียนในคณะนี้เหมือนกับองค์กร เราได้ทำงานกับคนหลายแบบ เวลาทำงานกลุ่มต่าง ๆ ก็มีความหลากหลายและท้าทายในการเรียน
ในคณะทุกคนเป็นคนเก่งเท่ากัน แต่มันอยู่ที่ว่าใครสามารถแบ่งเวลาชีวิตได้ดีกว่ากัน เราต้องหาจุดยืนให้ตัวเองให้ได้ อย่างถ้าเราเป็นคนชอบทำกิจกรรมด้วยก็ต้องดูเรื่องของการแบ่งเวลาให้ดี ๆ
จริง ๆ ไม่ค่อยได้เที่ยว เรียนค่อนข้างเยอะ กิจกรรมเยอะ ไม่ได้มีเวลาเที่ยวเหมือนคนอื่นเท่าไหร่ เพราะทำงานก็เหนื่อยแล้ว กว่าจะได้หนึ่งงานค่อนข้างใช้เวลาเยอะ
แผนการอ่านหนังสือในแต่ละวันกับเรื่องการจัดการเรื่องการเรียนไม่เหมือนมัธยม การทำงานกลุ่มต้องทำงานกับคนหลายคน อ่านหนังสือก่อนสอบเป็นเดือน ๆ เราต้องดูว่าแต่ละวิชาเป็นอย่างไรต้องเตรียมตัวแบบไหน เพราะแต่ละวิชาเตรียมตัวไม่เหมือนกัน เราเลยต้องจัดตารางอ่านหนังสือดี ๆ
เราเตรียมตัวตั้งแต่ ม. 4 เราคิดว่ายิ่งสอบ SAT (คะแนนสอบเพื่อใช้ยื่นเข้า) เร็วยิ่งดี เตรียม SAT ให้เยอะ กับ IELTS แต่จริง ๆ SAT เป็นตัวหลักมากกว่าคะแนนภาษาอังกฤษหรือไอเอล และก็เตรียมเรื่องการตอบคำถามตอนสัมภาษณ์ด้วย เราเจอคำถามก็อย่างเช่น เปิดธุรกิจแล้วทำอะไรต่อ สามสิ่งที่ก่อนตายต้องทำให้ได้ เลือกเป็นฮีโร่หนึ่งตัวจะเลือกเป็นตัวไหนเพราะอะไร ถ้าตลาดหุ้นตกต้องทำไง แนะนำหนังสือสามเล่มที่มีประโยชน์ มันเป็นคำถามสัมภาษณ์ที่ดู “กึ๋น” เด็ก ไม่ได้ดูคะแนนสอบแต่เพียงอย่างเดียว
หนังสือ SAT ของ College Board และ ของ Princeton เรียน SAT เลข ที่ Warwick ที่สำคัญเลยเราต้องเอาโจทย์มาทำบ่อย ๆ และข้อไหนที่ทำไม่ได้ก็ให้อ่านซ้ำ ๆ ทวนซ้ำ ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับมันให้ได้
อยากให้หาตัวตนของตัวเองให้เจอ เราควรไปค่ายเยอะ ๆ มีทั้งค่าย BE BBA ต่าง ๆ ไปให้หมดเลย ไปทำกิจกรรมและจะรู้ว่าตัวเองสนใจกับอะไร และถ้าน้องมีแรงบันดาลใจเรื่องการลงทุนหรือการทำธุรกิจ อยากทำอะไรที่ท้าทายและลุย ๆ หน่อย พี่แนะนำให้มาเรียนที่คณะนี้เลยค่ะ
จบมาส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ดูแลพอร์ตหุ้น เอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ ทำงานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ทำธุรกิจเอง เปิดธุรกิจส่วนตัว
ข้อมูลการสอบเข้า
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA)
https://www.tbs.tu.ac.th/admissions/bba-admission
เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ