เด็ก ๆ ที่เป็นลูกคนเดียวจำนวนไม่น้อย ที่เติบโตมาด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว และขาดทักษะทางสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีลูกคนเดียวจำนวนไม่น้อยเช่นกันค่ะ ที่ไม่พบว่า การเป็นลูกคนเดียวนั้นเป็นอุปสรรคในชีวิต ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะ พวกเขามีคนที่เรียกว่า ญาติพี่น้อง นั่นเอง
ข้อแรก – การได้รู้จักญาติพี่น้องตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนรู้และสร้างเพื่อนกลุ่มแรก ด้วยความรู้สึกเป็นธรรมชาติ และไม่อึดอัด เพราะมักจะเต็มไปด้วยบรรยากาศที่คุ้นเคย และผู้คนรอบข้างก็มีความน่าไว้วางใจสูง (พ่อแม่อยู่ด้วย สถานที่คุ้นเคย หรือมีการไปมาหาสู่บ่อย ๆ ทำให้เด็กไม่รู้สึกต่อต้านมากนัก)
ข้อสอง – การใช้เวลากับญาติพี่น้องนั้น ไม่มากเท่าพี่น้องร่วมท้องหรือพี่น้องบ้านเดียวกัน ทำให้ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดี เพราะเป็นการใช้เวลาแห่งความสุขด้วยกันเสียเป็นส่วนมาก เช่น งานเลี้ยงรวมญาติ หรือการนัดกันมาเล่นหรือทำกิจกรรมสนุก ๆ ในโอกาสต่าง ๆ หรือในวันหยุด เป็นต้น
ข้อสาม – การมองเห็นการเติบโตของกันและกัน ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เช่น รู้ว่าพี่น้องคนนั้นเป็นอย่างไร เติบโตมาอย่างไร ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไร เหมือนหรือไม่เหมือนตนเองในแง่มุมใดบ้าง
ข้อสี่ – เด็ก ๆ หลายคนให้ความไว้วางใจกับญาติ และรู้สึกเหมือนมีที่พึ่ง ซึ่งบางครั้งเกิดจากความรู้สึกที่ว่า พี่น้องต่างบ้านนั้น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับตน ต่างจากพี่น้องแท้ ๆ ที่บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกอิจฉา ไม่พอใจ หรือน้อยใจจากความไม่เท่าเทียมที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจของพ่อแม่ได้ค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก