Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปรากฏการณ์น้ำผุด (upwelling) ดีอย่างไร

Posted By Guide NT | 08 พ.ย. 62
72,539 Views

  Favorite

หากเราพูดถึงกระแสน้ำผุดหลายคนอาจจะนึกภาพแอ่งน้ำหรือทะเลสาบที่มีน้ำผุดขึ้นมา คล้าย ๆ กับบ่อน้ำพุร้อนที่มีน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน แต่แท้จริงแล้วกระแสน้ำผุด (upwelling) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่พบได้ในมหาสมุทรและตามแนวชายฝั่งทั่วไป

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร

การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรคล้ายกับการไหลเวียนของกระแสลม เพียงแต่กระแสน้ำมีสิ่งกีดขวางมากกว่า สิ่งกีดขวางนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อทิศทางการไลเวียนของน้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุณหภูมิที่พื้นผิวน้ำแต่ละแห่งได้รับซึ่งมีความแตกต่างกัน ตลอดไปจนถึงความเค็มของน้ำในมหาสมุทรก็ส่งผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำด้วย เนื่องจากยิ่งความเค็มมาก ความหนาแน่นจะสูง และน้ำที่มีความหนาแน่นสูงจะไหลไปยังบริเวณที่มีความหนาแน่นต่ำ จึงทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนมากนัก

ภาพ : Shutterstock

 

การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กระแสน้ำบริเวณพื้นผิว (Surface Currents) และกระแสน้ำลึก (Deep Currents)

 

ในขณะที่กระแสลมพัดผ่านพื้นผิวของน้ำในมหาสมุทรจะเกิดกระแสน้ำบริเวณพื้นผิว ซึ่งจะมีทิศตั้งฉากกับกระแสลมที่พัดมา หากเกิดขึ้นที่บริเวณชายฝั่ง โดยกระแสลมพัดขนานกับฝั่ง มวลน้ำที่อยู่บริเวณผิวน้ำจะถูกผลักออกไปในทะเล ดังนั้น มวลน้ำที่อยู่ข้างล่างจะไหลเข้ามาแทนที่มวลน้ำที่อยู่ข้างบน มวลน้ำที่ไหลเข้ามาแทนที่นี่เองคือ กระแสน้ำผุด (upwelling) เพราะฉะนั้นกระแสน้ำผุดจึงถูกจัดอยู่ในประเภทของกระแสน้ำลึก

ภาพ : Shutterstock

แล้วกระแสน้ำผุดมีประโยชน์อย่างไร?

 

กระแสน้ำผุดเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มวลน้ำด้านล่างของมหาสมุทรจะไหลเข้ามาแทนที่มวลน้ำด้านบนที่ถูกกระแสน้ำบริเวณพื้นผิวพัดพาออกไป มวลน้ำด้านล่างที่ถูกพัดพาให้ไหลมาแทนที่นั้นยังพาสารอาหารต่าง ๆ ขึ้นมาด้วย เนื่องจากพวกเศษซากของสัตว์ที่ตายไปแล้วจะจมลงและถูกทับถมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร หรือแม้แต่พวกแพลงก์ตอนชนิดต่าง ๆ สาหร่ายทะเลที่ถูกทับถมด้วยเช่นกัน เมื่อมีกระแสน้ำลึกที่คอยพัดพามวลน้ำด้านล่างให้ไหลขึ้นมาแล้ว สารอาหารที่ถูกทับถมกันอยู่จึงถูกพัดพาขึ้นมาด้วยเช่นกัน และสารอาหารที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำผุดเหล่านี้เป็นอาหารของปลา ทำให้บริเวณนั้นชุกชุมไปด้วยปลาจำนวนมาก เนื่องจากปลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่แค่น้ำด้านบนที่แสงสว่างส่องไปถึง ดังนั้น ปลาส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งของสารอาหารที่จมอยู่ด้านล่างได้นั้นเอง


หากใครเคยเรียนปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ที่มวลน้ำด้านบนถูกพัดพาไปทางฝั่งทวีปออสเตรเลียและประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากกระแสลมค้า ดังนั้นมวลน้ำที่อยู่ด้านล่างจึงไหลเข้าไปแทนที่ฝั่งทวีปอเมริกาใต้และประเทศเปรู บริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยสารอาหารและปลาจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อชาวประมงที่อาศัยจับปลาอยู่บริเวณนั้นด้วยนั่นเอง แต่มวลน้ำที่ไหลมานั้นเป็นกระแสน้ำลึกที่เป็นกระแสน้ำเย็น ดังนั้น นอกจากจะพาสารอาหารมาด้วยแล้วยังนำพาความแห้งแล้งมาด้วยเช่นกัน ทำให้ประเทศแถบบริเวณนั้นเกิดภัยแล้งฝนไม่ตก

ภาพ : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow