สิ่งมีชีวิตที่มีเซนส์ทางคณิตศาสตร์ นั่นคือ มด ใช่แล้วจ้า มด คุณผู้อ่านอ่านไม่ผิด แต่มดที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือ Ant man เอ้ย! ไม่ใช่ มดที่นับเลขได้ คือ มดทะเลทราย (Cataglyphis) ต่างหากล่ะ
เรื่องมันมีอยู่ว่ามดปกติทั่วไป เช่น มดแดง มดดำ มดคันไฟ ฯลฯ เวลามันออกไปหาอาหารตามแหล่งอาหาร เราจะเห็นมดพวกนี้เดินตามกันไปเป็นกลุ่มเป็นเส้น ซึ่งมันเดินตามกลิ่นของฟีโรโมน (สารเคมีชนิดหนึ่งในมด) ที่มดตัวหน้าปล่อยไว้ มันจึงไม่หลงทาง สามารถไปยังแหล่งอาหาร และเดินทางกลับรังได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในทะเลทรายนั้นเป็นพื้นที่โล่ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทะเลทราย มีลมพัดแรง ทำให้ฟีโรโมนที่มดปล่อยกลิ่นไว้นั้นจางหายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น มดทะเลทรายมักจะหลงทางอยู่เสมอ ฮ่า ๆ จึงทำให้มดทะเลทรายต้องมีอะไรบางอย่างมาช่วยให้มันเดินออกไปหาอาหารและกลับรังได้อย่างถูกต้อง นั่นคือ เครื่องนับจำนวนก้าวที่อยู่ในสมองเล็ก ๆ ของมดนั่นเองจ้า!
การทดลองที่ 1 ในการทดลองนี้เราจะใช้มดทะเลทรายทั้งหมด 3 ตัวและแหล่งอาหารของมด
เริ่มการทดลองโดยปล่อยมด 3 ตัวในตำแหน่งเดียวกัน เดินไปยังแหล่งอาหาร สมมติว่ามดนับจำนวนก้าวของตัวเองจากจุดปล่อยไปยังแหล่งอาหารได้ 20 ก้าว มดทุกตัวก็จะจำได้ว่าตัวเองเดินมา 20 ก้าว ฉะนั้นต้องเดินกลับไปยังจุดปล่อยจำนวน 20 ก้าวเท่าเดิม แต่ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะปล่อยให้มดกลับไปยังจุดปล่อย เขาได้ทำอะไรบางอย่างกับมด นั่นคือ มดตัวที่ 1 ยังเป็นมดปกติ ไม่ได้ทำอะไรกับมดตัวนี้ทั้งสิ้น มดตัวที่ 2 ได้ต่อขามดให้ยาวขึ้น จะทำให้ก้าวยาวขึ้น ส่วนมดตัวที่ 3 ได้ตัดขาให้สั้นลง (โหดเหี้ยมจริง ๆ) จะทำให้ก้าวสั้นลง จากนั้นก็ปล่อยมดทั้ง 3 ตัวเดินกลับไปยังจุดปล่อย
ผลปรากฏว่ามดตัวที่ 1 กลับถึงจุดปล่อยพอดีเป๊ะ มดตัวที่ 2 เมื่อเดินกลับและนับถึงก้าวที่ 20 หันไปรอบข้างไม่เจอจุดปล่อยจ้ะ เพราะมันเดินเลยจุดปล่อยไป ส่วนตัวที่ 3 เมื่อเดินครบตามจำนวนก้าวแล้วมันยังไม่ถึงจุดปล่อยเลย
นี่เป็นเพียงการทดลองที่ 1 ดังนั้น เราจะไม่ด่วนสรุปง่าย ๆ หรอกนะ ว่ามันนับก้าวได้จริง ๆ ฉะนั้นจะต้องมีการทดลองที่ 2 กันพลาดจ้า! ไปดูกัน!
การทดลองที่ 2 เรายังใช้มด 3 ตัวจากการทดลองที่ 1 ที่เราได้ทำการดัดแปลงขาของมันไป
โดยเราจะทำให้มันลืมเหตุการณ์ในการทดลองที่ 1 ไปก่อน โดยให้มันนอนพักสักหนึ่งคืนแล้วค่อยทำการทดลอง การทดลองในครั้งนี้ทำคล้าย ๆ กับการทดลองที่ 1 เริ่มจากการปล่อยมดทั้ง 3 ตัวจากจุดปล่อยให้เดินไปยังแหล่งอาหาร (สมมติว่าวางแหล่งอาหารไว้ห่างจากจุดปล่อย ระยะเท่ากับการทดลองที่ 1) มดตัวที่ 1 จะใช้จำนวนก้าวเท่าเดิม มดตัวที่ 2 ใช้จำนวนก้าวน้อยลง เพราะขายาว ส่วนมดตัวที่ 3 ใช้จำนวนก้าวมากขึ้น เพราะขาสั้น นั่นคือมดแต่ละตัวจะมีจำนวนก้าวไปยังแหล่งอาหารไม่เท่ากัน
แต่เมื่อทุกตัวจะกลับจุดปล่อย ปรากฏว่ามดทุกตัวสามารถกลับไปยังจุดปล่อยได้เป๊ะ ไม่มีตัวไหนไม่ถึงจุดปล่อยหรือเลยจุดปล่อยไป
จากการทดลองที่ 1 และ 2 จึงสรุปได้ว่า มดทะเลทรายสามารถนับก้าวของตัวเองได้ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตของมันเอง น่าแปลกใจมาก ๆ มดนับเลขได้ด้วยเด้อ นี่ก็เป็นบทความหนึ่งที่บอกได้ว่า ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีเซนส์ทางคณิตศาสตร์ แต่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน บทความนี้กล่าวถึงมดทะเลทรายเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีก รอติดตามจ้า!