ถ้าย้อนกลับไปในสมัยก่อนปี ค.ศ.1914 ชุดยูนิฟอร์มผ่าตัดยังคงเป็นสีขาวอยู่ แต่มีแพทย์ท่านหนึ่งได้ยกเลิกการใช้ชุดสีขาวแล้วเปลี่ยนให้มาเป็นชุดสีเขียวแทน เนื่องจากการมองเลือดที่มีสีแดงเป็นเวลาระยะนาน ๆ ขณะที่กำลังผ่าตัดอยู่ แล้วเงยหน้าขึ้นมามองเพื่อนร่วมงานที่ใส่ชุดสีขาว จะทำให้เกิดภาพติดตามองเห็นสีขาวเป็นสีเขียวได้ (After effect illusion) ซึ่งส่งผลให้ตาเริ่มล้าและตอบสนองได้ช้าลง เมื่อกลับไปมองเลือดหรืออวัยวะที่กำลังผ่าตัดอีกครั้ง สัญญาณที่ส่งมาที่สมองจะช้าลง ทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นน้อยลงด้วยเช่นกัน
ภายในดวงตาของเรามีเซลล์รับแสงอยู่ 2 ชนิด คือ เซลล์รูปแท่ง (Rod cell) เป็นเซลล์รับแสงที่ไวต่อแสงมาก ทำหน้าที่ในการมองเห็นในที่มืด และเซลล์รูปโคน (Cone cell) เป็นเซลล์รับแสงที่ทำหน้าที่ในการมองเห็นสีและแสงในที่สว่าง โดยเซลล์รูปโคนแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ S type (รับแสงสีน้ำเงิน) M type (รับแสงสีเขียว) และ L type (รับแสงสีแดง) หรือสีที่เป็นแม่สีนั้นเอง RGB (Red, Green, Blue cone cell)
แต่ในความเป็นจริงเซลล์รูปโคนแต่ละชนิดมีการตอบสนองที่เหลื่อมล้ำกัน หรือก็คือ L type ที่รับแสงสีแดง (Red cone cell) นอกจากจะตอบสนองต่อคลื่นแสงสีแดงแล้ว ยังสามารถตอบสนองเบา ๆ ต่อคลื่นแสงสีใกล้เคียงได้อีกด้วย เรียกว่า Broadening ดังนั้น หากลองเพ่งมองสีแดงไปสักระยะหนึ่ง เซลล์ที่รับแสงสีแดงจะทำงานมากส่งผลให้เซลล์เริ่มล้า แต่เมื่อหันไปมองสีขาว เซลล์ที่รับแสงสีแดงจะทำงานน้อยลง ซึ่งปกติเซลล์รับแสงสีแดงจะถูกกระตุ้นและยับยั้งเซลล์รับแสงสีเขียว แต่กลายเป็นว่าเซลล์รับแสงสีเขียวถูกกระตุ้นแทน เพราะเซลล์รับแสงสีแดงทำงานได้น้อยลงหรือเริ่มล้า ทำให้เรามองเห็นสีเขียวขึ้นมาลาง ๆ นั้นเอง
เพราะฉะนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้ใส่ชุดยูนิฟอร์มผ่าตัดเป็นสีเขียวหรือสีฟ้าแทน ซึ่งช่วยให้ดวงตาของทีมแพทย์ผ่าตัดมุ้งเน้นไปที่สีแดง นอกจากนี้การได้มองเห็นสีเขียวหรือสีฟ้ายังทำให้ดวงตาได้ผ่อนคลายขึ้น ไม่เมื่อยล้าจากการมองสีเดิม ๆ ตลอดเวลาอีกด้วย