Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

!ตามติดชีวิต "นักเทคนิคการแพทย์" กับโครงการทำ ก่อน ฝัน

Posted By doremee | 07 พ.ค. 62
8,183 Views

  Favorite

     สวัสดีค่า ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณทุกคนที่กดเข้ามาอ่านกระทู้นี้ กระทู้นี้เราจะมารีวิวและให้ความรู้เกี่ยวกับการไปฝึกงานอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กับโครงการทำ ก่อน ฝัน รุ่นที่ 4 ค่ะ ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

    

          นักเทคนิคการแพทย์คือใคร? มีหน้าที่ทำอะไร?

     นักเทคนิคการแพทย์ (Medical Technologist) หรือที่ใครหลายๆคนรู้จักกันในชื่อ "หมอแล็บ" หน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์คือตรวจวินิจฉัยโรคและติดตามการรักษาของผู้ป่วย โดยอาศัยสิ่งส่งตรวจที่ได้มาในการวิเคราะห์ สิ่งส่งตรวจในที่นี้หมายถึงสารคัดหลั่งและของเหลวต่างๆภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น เลือด เสมหะ ปัสสาวะ อุจจาระ นอกจากตรวจโรคแล้ว ยังสามารถตรวจภูมิคุ้มกัน สารพิษ และสารเสพติดในร่างกายได้อีกด้วย

 

          สถานที่ทำงาน

     ขึ้นชื่อว่าเป็นหมอแล็บ ก็ต้องทำงานในแล็บของโรงพยาบาล โดยปกติแล้วห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แล็บกลางและแล็บย่อย แล็บกลางคือแล็บที่รวมการทำงานของทุกส่วนไว้ในห้องใหญ่ๆห้องเดียว ส่วนแล็บย่อยคือแล็บที่แบ่งงานตามห้อง ไม่ได้รวมกันเหมือนแล็บกลาง
     ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นั้น เป็นแล็บกลาง มีด้วยกัน 6 ส่วน คือ ธนาคารโลหิต ภูมิคุ้มกันวิทยา เคมีคลินิก จุลชีววิทยา จุลทรรศนศาสตร์ และโลหิตวิทยา 

ห้องแล็บกลางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

 

          ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

     1.แพทย์ ; เนื่องจากเป็นการทำงานเบื้องหลังอาชีพแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์จึงต้องติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการตรวจกับแพทย์ตลอด

     2.พยาบาล ; พยาบาลจะทำหน้าที่นำสิ่งส่งตรวจมาให้นักเทคนิคการแพทย์

 

          ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ

     1.ความรู้พื้นฐานของอาชีพ

     2.ความสามาถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

     3.ความสามารถในการใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ

 

          ข้อดี vs ข้อจำกัด

 

ข้อดีและข้อจำกัดของอาชีพนักเทคนิคการแพทย์

ข้อดี  ข้อจำกัด

มีหน้าที่การงานที่มั่นคง

ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถย้ายสายงานได้ตลอดเวลา เช่น เป็นเซลล์ขายเครื่องมือทางการแพทย์ เรียนต่อ หรือเปิดแล็บทำวิจัยเอง

ไม่ค่อยได้พบปะผู้คน

การทำงานมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อถ้าไม่ป้องกันตัวเอง

ต้องมีความรับผิดชอบและความแม่นยำในการปฏิบัติงานสูงมากๆ

 


          !medtech workshop

     ต่อไปนี้จะเป็นการรีวิวการไปฝึกงานที่ห้องแล็บกลางของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ค่ะ!

 

        day 1 ; 22 apr 2019 

     วันนี้พี่ๆทีมเทคนิคการแพทย์พาเดินทั่วแล็บและอธิบายจุดงานทั้ง 6 จุด ซึ่งจะได้ทดลองทำได้วันต่อๆไปค่ะ พออธิบายจบก็ปล่อยให้เดินดูตามความสนใจและเริ่มงานจริงในวันพรุ่งนี้

เครื่องมือใช้ในการตรวจเลือด
 

บรรยากาศในห้องปฏิบัติการ

 

          day 2 ; 23 apr 2019 - phlebotomy and chemical clinic

     วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ไปฝึกงานจริงๆค่ะ ตอนเช้าไปดูเจาะเลือด ส่วนตอนบ่ายได้เข้า section เคมีคลินิก

   phlebotomy :

     ก่อนการเจาะเลือดต้องเช็คข้อมูลผู้มาเจาะให้ครบถ้วนและถูกต้องก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันการเจาะผิดคน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ alcohol ให้ใช้ chlorhexidine เช็ดแทน การเช็ดต้องเช็ดแบบก้นหอย วนออก การเช็ดแบบนี้จะทำให้บริเวณที่จะเจาะนั้นไม่มีเชื้อโรค นอกจากนี้การหาเส้นเลือด การเลือกตำแหน่งที่จะเจาะ และการเลือกเข็มก็สำคัญมากๆเช่นกัน เข็มยิ่งเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการเกิด hemolysis (เม็ดเลือดแดงแตกตัว)

จำลองการเจาะเลือดกับแขนของเพื่อน
หลอดเก็บเลือด

     นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ในการเจาะเลือดด้วย อย่างหลอดที่ใช้เก็บเลือด ความแตกต่างจะอยู่ที่สีของฝา

          สีแดง (clot blood) - มี serum clot activator เหมาะสำหรับการส่งตรวจเคมีคลินิกและภูมิคุ้มกันวิทยา

          สีม่วง (EDTA) - ใช้ตรวจ whole blood (เลือดครบส่วน) หรือ CBC ในโลหิตวิทยา

          สีเขียว (heparin blood) - สามารถตรวจ cardiac enzyme หรือตรวจโรคหัวใจได้

          สีฟ้า (sodium citrate) - มี liquid activator ใช้ตรวจการแข็งตัวของเลือด

          สีเทา (sodium fluoride) - ใช้ตรวจ glucose และ lactate

          ESR vacuum tube (สีดำ) - ใช้ตรวจการอักเสบ

   chemical clinic :

     เคมีคลินิกทำเกี่ยวกับตรวจหาสารเคมีในร่างกายจากสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วย เช่น เลือด ปัสสาวะ เป็นต้น

เครื่องปั่นเลือด
เครื่องตรวจเลือด

 

          day 3 ; 24 apr 2019 - immunology and microbiology

     วันนี้ช่วงเช้าได้เรียนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยา การตรวจโรคต่างๆ ส่วนช่วงบ่ายเรียนจุลชีววิทยา เกี่ยวกับแบคทีเรีย การตรวจสิ่งส่งตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

   immunology section :

     ภูมิคุ้มกันวิทยาทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจหาไวรัสของการเกิดโรคต่างๆ เช่น hiv, ตับอักเสบ b, การตรวจไข้หวัดใหญ่

   microbiology section :

     จุลชีววิทยาทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจแบคทีเรียนด้วยกล้องจุลทรรศน์ การจะตรวจต้องสเมียร์สิ่งส่งตรวจลงบนแผ่นสไลด์และนำไปย้อมสีเพื่อดูรูปร่างของเชื้อ กลุ่ม และลักษณะก่อนจะนำมาตรวจด้วยกล้อง โดยการย้อมสีจะใช้สีเฉพาะ และการย้อมนั้นมีหลายแบบ เช่น gram stain, AFB stain, india ink การย้อมแต่ละแบบสามารถใช้ดูเชื้อแบคทีเรียนได้เหมือนกัน จะแตกต่างกันที่การใช้สีและวิธีย้อม

     วันนี้ได้ลองดูพี่เขาสาธิตวิธีการย้อมเสมหะของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูเชื้อวัณโรค

การย้อมสีแบบ AFB stain
แผ่นสไลด์ที่ถูกย้อมบน hot plate ต้องทำให้แห้งก่อนนำไปส่องกล้อง (3 อันบน)

 

ตัวอย่างการย้อมเสมหะแบบ AFB stain

เสมหะที่ไม่มีเชื้อวัณโรค
เสมหะที่มีเชื้อวัณโรค (จุดสีแดงๆคือเชื้อโรค)

 

          day 4 ; 25 apr 2019 - hematology and microscopy

     วันนี้ได้ตอนเช้าได้เรียนเกี่ยวกับโลหิตวิทยา การตรวจเลือด ส่วนตอนบ่ายเรียนเกี่ยวกับจุลทรรศนศาตร์ การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ

   hematology section :

     ได้ลองสเมียร์เลือดจริงๆ (หรือที่ใครหลายๆคนเรียกว่าการไถเลือด) เป็นสิ่งที่นักเทคนิคการแพทย์ทุกคนต้องทำเป็น ตอนทำจริงๆยากมาก การสเมียร์เลือดที่ดีจะต้องเป็นรูปลิ้นหมา และมี standard area (สามารถหาได้จากการส่องกับไฟ จะปรากฎเป็นแถบสีรุ้ง เป็นจุดมาตรฐานในการตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์)

     เมื่อสเมียร์เสร็จต้องนำไปย้อมสีก่อนนำมาส่องดูด้วยกล้อง

ตรวจดูเลือดที่แข็งตัว
ย้อมฝั่งซ้ายก่อนแล้วค่อยย้อมฝั่งขวา จับเวลาฝั่งละ 4 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำ

 

วางบน hot plate รอให้แห้ง (การสเมียร์เลือดแบบลิ้นหมาคือแบบสองอันซ้าย)
การสเมียร์เลือดครั้งแรกของเราเอง ใช้ไม่ได้เพราะไม่เป็นลิ้นหมาและสั้นเกิน ไม่มี standard area ด้วย T____T

 

การตรวจดูความซีดของเลือด

เครื่องมือตรวจดูความซีดของเลือด

 

ขั้นตอน

1.นำตัวอย่างเลือดทั้ง 2 หลอดมาวางบนเครื่องมือ วางส่วนที่เป็นเลือดให้ตรงกับเลข 0

2.เลื่อนพลาสมาใหตรงจุด 100

3.วัดดูว่าทั้งสองตัวอย่างตรงกับเลขอะไร ตัวเลขของทั้งสองอันเมื่อบวกลบกันแล้วไม่ควรเกิน 2

 

   microscopy section :

     เรียนเกี่ยวกับการตรวจปัสสาวะและอุจจาระภายใต้กล้องจุลทรรศน์

     การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (urinalysis) ; สามารถตรวจการตั้งครรภ์ สารเสพติด เบาหวาน และโรคไตได้ใช้ปัสสาวะประมาณ 10 ml ขั้นตอนในการตรวจมี 3 ขั้นตอน

        1.ตรวจดูกายภาพของปัสสาวะ - สี, ลักษณะทั่วไป, ความขุ่น-ใส

        2.การตรวจทางเคมี - ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจ

        3.การตรวจดูตะกอนภายใต้กล้องจุลทรรศน์

     การตรวจอุจจาระ (stool examination) ; สามารถตรวจหาพยาธิ และเลือดออกในลำไส้ได้

 

          day 5 ; 26 apr 2019 - blood bank

     วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการฝึกงานค่ะ สำหรับฐานสุดท้ายที่ได้เข้าคือธนาคารโลหิตค่า จะเกี่ยวกับการรับ-ส่งเลือด ธนาคารโลหิตมีหน้าที่จัดหาและเตรียมเลือดให้แก่ผู้ป่วย โดยรับมาจากสภากาชาด และนำส่งให้ผู้ป่วยตามความต้องการ โดยสิ่งที่สามารถให้ได้มี 3 ประเภทคือ เลือด(เฉพาะที่เป็นเม็ดเลือดแดง), พลาสมา, เกล็ดเลือด (ตอนที่เราบริจาคเลือดจะเป็นการบริจาคแบบ whole blood)

        เม็ดเลือดแดง (red blood cell) - มีอายุประมาณเดือนกว่าๆ ทำหน้าที่ส่งออกซิเจน ใช้ในผู้ป่วยที่เสียเลือดมากหรือเป็นโรคโลหิตจาง

        พลาสมา (plasma) - ต้องแช่ฟรีซในอุณหภูมิ -30 องศา มีอายุ 1 ปี หากจะใช้ต้องนำมาละลายก่อน เมื่อละลายแล้วจะอยู่ได้แค่ 24 ชั่วโมง มีโปรตีน ช่วยทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด

        เกร็ดเลือด (platelet) - มีอายุ 5 วัน ช่วยสมานบาดแผล ช่วยการหยุดไหลของเลือด ใช้ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังทำคีโม

  blood bank :

     ก่อนจะนำส่งให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือด ต้องทำการตรวจดูก่อนว่าเลือดของผู้ป่วยกับเลือดของผู้บริจาคสามารถเข้ากันได้หรือไม่  (**ไม่สามารถต่อสายให้ได้ทันทีแบบในละคร!!!)

การตรวจหากรุ๊ปเลือด

      

     และทั้งหมดนี้ก็คือการฝึกงานอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ทั้ง 5 วันของเราเองค่า บาง section หรือบางการทดลองไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ดูได้ต้องขอภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะคะ y____y 

     ขอขอบคุณทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่ให้โอกาสนักเรียนอย่างเราได้เข้าไปฝึกงานและทดลองทำอะไรหลายๆอย่างจริง ขอบคุณพี่ๆทีมเทคนิคการแพทย์ทุกคนที่ให้ข้อมูลความรู้อย่างเต็มที่และดูแลเราตลอด 5 วัน ขอบคุณโครงการทำ ก่อน ฝัน ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนหลายๆคนได้ค้นหาตัวเองและได้หาประสบการณ์ใหม่ๆ และขอขอบคุณทุกๆคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ หวังว่าเราจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการตัดสินใจของใครหลายๆคนที่ฝันอยากจะเป็นนักเทคนิคการแพทย์ และหวังว่าข้อมูลของเราจะเป็นประโยชน์ไม่มาก็น้อยค่ะ

     และสำหรับใครที่อยากลองมาสัมผัสประสบการณ์จริงๆแบบนี้นะคะ ปิดเทอมครั้งหน้าเราอยากเชิญชวนให้ทุกๆคนลองสมัครโครงการนี้ดูนะคะ จะได้รู้ว่าอาชีพนี้ใช้สำหรับเราจริงๆหรือเปล่า สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ facebook : ทำ ก่อน ฝัน เลยค่า เพราะก่อนจะฝัน มันต้องลอง!

     สุดท้ายนี้ขอลาทุกคนไปด้วยวลีเด็ดที่เราประทับใจเกี่ยวกับอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ค่ะ ตอนนั้นคุยกับพี่น้อย(นักเทคนิคการแพทย์) เรื่องเวลาในการทำงานค่ะ พี่น้อยเล่าว่าช่วงที่ยุ่งมากๆเรายิ่งต้องมีความแม่นยำสูง หากรายงานผลผิดก็จะมีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นต้องรอบคอบและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้เร็วที่สุดค่ะ พี่น้อยยังเล่าอีกว่าแล็บต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง คนที่อยู่เวร 24 ชั่วโมงบางทีแทบจะไม่มีเวลาได้นอนเพราะมีเคสของคนไข้เข้ามาเรื่อยๆ ก็เลยต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาค่ะ

     quote :

"แล็บต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เราต้องรอคนไข้ ไม่ใช่ให้คนไข้มารอเรา" 

—พี่น้อย นักเทคนิคการแพทย์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

 

 

เป็นกำลังใจให้กับความฝันของทุกๆคนนะคะ :—) ขอให้ทุกวันเป็นวันที่ดีค่ะ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • doremee
  • 0 Followers
  • Follow