หากนำภาพการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (Embryo) ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังมาเปรียบเทียบ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย จะเห็นได้ว่าพัฒนาการการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในระยะต้นหรือตั้งแต่มีการปฏิสนธิ (Fertilization) เป็นไซโกต (Zygote) และเริ่มมีการแบ่งเซลล์ จนไปถึงการเจริญเติบโตในระยะกลาง พัฒนาการตัวอ่อนของสัตว์รวมไปถึงพัฒนาการตัวอ่อนของมนุษย์มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน และมนุษย์ในขณะนั้นยังมีอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายกับหางอยู่
เฮกเคล (Haeckel) จึงได้เสนอทฤษฎีย้อนรอยบรรพบุรุษ (Theory of Recapitulation) เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน ในระยะแรกของการเป็นตัวอ่อนจะมีโครงสร้างอวัยวะและรูปร่างคล้ายคลึงกัน จากภาพข้างต้นตัวอ่อนของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจะมีโครงสร้างอวัยวะที่เป็นเหงือก (Grill) และหาง (Tail) คล้ายกัน ดังนั้น เฮกเคลจึงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน
เมื่อตัวอ่อนของมนุษย์อายุได้ประมาณ5 สัปดาห์ ส่วนที่เป็นหางจะเห็นเป็นกระดูกและเนื้ออย่างชัดเจน แต่การที่จะทำให้หางหายไปเลย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การเจริญเติบโตของร่างกายของตัวอ่อนจึงมีการยับยั้งการเจริญเติบโตของหางไว้แค่นั้น แต่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ยังคงมีการเจริญเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าหางจะหยุดเจริญเติบโตไปแต่ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่กลายเป็นกระดูกก้นกบของมนุษย์นั้นเอง ซึ่งการยับยั้งการเจริญเติบโตของหางนั้นทำโดยการส่งสัญญาณให้โมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของหางหยุดทำงาน ไม่อย่างนั้นมนุษย์คงจะมีหางงอกยาวออกมาเหมือนกับการเจริญเติบโตของแขนและขาตามปกตินั้นเอง