โรคจากการขึ้นที่สูง (Altitude sickness) พบได้ทั่วไปในผู้ที่เดินทางไปยังความสูงมากกว่า 2,000-2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นต้นไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไปยังประเทศที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ เช่น ประเทศเปรู ทิเบต เนปาล เนื่องจากบริเวณที่สูงมีอากาศเบาบาง ออกซิเจนต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
Altitude sickness จะเกิดเมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีระดับความสูง อากาศเบาบาง ออกซิเจนในอากาศลดลง นอกจากนั้นสาเหตุหลักของการเกิด Altitude sickness คือการขึ้นไปที่สูงอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีเวลาให้ร่างกายปรับตัว หรือการอยู่ในพื้นที่สูงเป็นเป็นเวลานาน
โดยปกติที่ระดับน้ำทะเล อัตราส่วนของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศมีประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ และความกดอากาศประมาณ 760 มิลลิเมตรของปรอท (mmHg) การขึ้นไปที่สูงนั้นไม่ได้ทำให้อัตราส่วนของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศลดลง แต่อากาศนั้นเบาบาง ดังนั้น ปริมาณออกซิเจนต่อการหายใจเข้าไปแต่ละครั้งจึงน้อยลง
ที่ระดับความสูงประมาณ 5,500 เมตร ในการหายใจแต่ละครั้งปริมาณการได้รับออกซิเจนจะยิ่งน้อยลง ประมาณครึ่งหนึ่งของออกซิเจนที่พบในพื้นที่ที่ระดับน้ำทะเลทั่วไป จึงจำเป็นต้องหายใจให้เร็วขึ้นเพื่อทดแทนปริมาณออกซิเจนที่หายไป หัวใจเต้นเร็วมากขึ้น จึงจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากยังมีการขึ้นไปยังที่สูงเรื่อย ๆ โดยร่างกายไม่ได้รับการปรับสภาพให้คุ้นชินกับความระดับความสูง อาจทำให้เกิดภาวะสมองบวมน้ำและปอดบวมน้ำได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น เมื่อขึ้นไปยังที่สูงจึงจำเป็นต้องทำให้ร่างกายปรับสภาพก่อน โดยหากต้องเดินทางไปยังที่สูงควรไต่ระดับความสูงไปเรื่อย ๆ จากที่ต่ำไปยังที่สูง และไต่ระดับความสูงอย่างช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 วันร่างกายจึงจะสามารถปรับตัวได้ ดังนั้น หากมีการเดินทางควรพักอยู่ที่เมืองที่มีระดับความสูงที่ต่ำก่อนประมาณ 1-2 วัน และไต่ระดับความสูงไปเรื่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Altitude sickness
เมื่อขึ้นไปที่สูง อากาศบนนั้นจะเบาบาง ออกซิเจนน้อยลง บางคนไม่สามารถปรับตัวในภาวะที่มีออกซิเจนน้อยได้ ทำให้เกิดภาวะ Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปเมื่อขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง ผู้ที่เกิดภาวะนี้จะมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ เหนื่อยง่าย เป็นอาการที่ไม่รุนแรงมาก เมื่อเกิดอาการเหล่านี้แล้วควรพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้
อาการดังกล่าวเป็นอาการทั่วไปของผู้ที่เดินทางไปยังบริเวณพื้นที่สูง แต่หากปล่อยไว้ ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งมีผลกระทบต่อปอดและสมอง เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนนี้มี 2 แบบด้วยกัน คือ
1. High altitude cerebral edema (HACE) เป็นอาการต่อเนื่องจากการเกิดภาวะ AMS เป็นอาการสมองบวมน้ำ มักเกิดขึ้นได้เมื่ออาศัยบริเวณที่สูงนานกว่า 1 สัปดาห์ ภาวะนี้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
2. High altitude pulmonary edema (HAPE) เป็นภาวะปอดบวมน้ำ เป็นภาวะที่ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีอาการหายใจลำบาก แน่นหน้าอก เหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย มึนงง หากปล่อยไว้อาจทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
1. วิธีการป้องกันการเกิดภาวะ Altitude sickness ที่ดีที่สุดคือ การทำให้ร่างกายปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่สูง ต้องมีการวางแผนการเดินทางโดยเดินทางไต่ระดับจากความสูงน้อยไปยังความสูงมาก
2. ดื่มน้ำ 4-6 ลิตรต่อวันเมื่อเดินทางขึ้นไปยังพื้นที่สูง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายได้ปรับตัวประมาณ 1-2 วัน
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. เมื่อมีการวางแผนว่าจะต้องเดินทางไปยังที่สูง ควรกินยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการ altitude sickness เช่น ยา Diamox ยานี้ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้งาน