งานวิจัยชิ้นล่าสุดจาก มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท (Ohio State University) สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า การอ่านหนังสือกับเด็ก ๆ วัยก่อน 5 ขวบทุกวัน เพียงวันละ 1 เล่ม (ซึ่งแน่นอนว่าคงหมายถึงหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพสำหรับเด็ก) สามารถสร้างคลังคำศัพท์ให้กับเด็ก ๆ ได้มากถึง 1.4 ล้านคำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับเด็ก ๆ ทั่วไปที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ หรือมาเริ่มอ่านเมื่อตอนเข้าโรงเรียนแล้ว ซึ่งความแตกต่างนี้นี่เอง ที่เป็นผลต่อเนื่องถึงพัฒนาการเด็กที่แตกต่างกันในรั้วโรงเรียน เพราะคลังคำศัพท์ที่มี ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่เด็ก ๆ แต่ละคนได้ติดตัวมาจากที่บ้าน หากเด็กมีการสื่อสารที่ดี มีคำศัพท์ในหัวมาก การใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียน และการซึมซับสิ่งใหม่ ๆ ที่ครูสอน และความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ย่อมมากกว่าเด็กที่มีพัฒนาการทางด้านภาษาที่อ่อนกว่า
“ไม่เพียงความพร้อมในการไปโรงเรียนที่มากกว่า แต่เด็กที่เริ่มอ่านหนังสือกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล ยังมีความสามารถในการอ่านที่เร็วกว่าเด็กทั่วไปอีกด้วย” Jessica Logan หนึ่งในผู้วิจัยในหัวข้อนี้กล่าว
นอกจากผลการวิจัยที่ชี้ถึงปริมาณคำศัพท์ที่เด็ก ๆ จะสะสมได้เมื่ออ่านหนังสือกับเด็ก ๆ ทุกวันแล้ว ผู้วิจัยยังได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับจำนวนคำศัพท์ที่ได้จากปริมาณการอ่านหนังสือที่อ่านกับเด็ก ๆ ในวัยก่อน 5 ปีในระดับที่แตกต่างกันไว้อีกด้วย โดยตัวเลขเป็นดังนี้
ไม่เคยอ่านหนังสือกับเด็กเลย : 4,662 คำ
อ่านสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง : 63,570 คำ
อ่านสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง : 169,520 คำ
อ่านทุกวัน : 296,660 คำ
อ่านทุกวัน วันละ 5 เล่ม : 1,483,300 คำ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก