1. แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการหายใจ (Respiratory system)
2. ไฮโดรเจน เกลือแร่ และน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับมามากเกินความจำเป็นของร่างกาย
3. ของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ (Nitrogenous wastes: N-wastes)
สำหรับของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ เกิดจากการสลายตัวของโปรตีนและกรดนิวคลีอิก เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุลของทั้งโปรตีนและกรดนิวคลีอิกมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบอยู่ เมื่อโปรตีนถูกย่อยกลายเป็นกรดอะมิโน ซึ่งมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบในโมเลกุล จะทำให้เกิดของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ส่วนกรดนิวคลีอิกที่เป็นองค์ประกอบของดีเอ็นเอ ก็มีส่่วนประกอบที่เป็นหมู่เบส (Nitrogenous bases) ซึ่งมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบในโมเลกุลด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การสลายตัวของกรดนิวคลีอิก จึงทำให้เกิดของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบได้
ของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ แบ่งได้เป็น
1. แอมโมเนีย (Ammonia: NH3) มีสถานะเป็นแก๊สและมีความเป็นพิษสูง แต่สามารถละลายในน้ำได้ดี เมื่อละลายในน้ำแล้วจะกลายเป็นแอมโมเนียมไอออน (NH4+) ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยกว่าแอมโมเนีย แต่การกำจัดของเสียออกในรูปแอมโมเนียมไอออนจะต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ดังนั้น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำและปลาส่วนใหญ่จึงขับถ่ายของเสียออกมาในรูปของแอมโมเนีย เราสามารถเรียกสัตว์จำพวกนี้ได้ว่า ammonotelic
2. ยูเรีย (Urea) มีสถานะเป็นของแข็ง แต่สามารถละลายในน้ำได้และมีความเป็นพิษน้อยกว่าแอมโมเนีย ร่างกายจึงกำจัดยูเรียออกมาในรูปของสารละลาย โดยสิ่งมีชีวิตที่กำจัดของเสียในรูปของยูเรีย ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ฉลาม และปลากระดูกแข็งบางชนิด เราสามารถเรียกสัตว์จำพวกนี้ได้ว่า ureotelic
3. กรดยูริก (Uric acid) เป็นสารที่ละลายในน้ำได้น้อยและก่อนจะกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย ร่างกายจะดูดน้ำกลับคืนได้เกือบหมด โดยการกำจัดกรดยูริกจะถูกขับมาพร้อมกับอุจจาระทำให้มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Semisolid) สิ่งมีชีวิตที่กำจัดของเสียในรูปของกรดยูริก ได้แก่ แมลง นก สัตว์เลื้อยคลาน และหอยที่อาศัยอยู่บนบก เราสามารถเรียกสัตว์จำพวกนี้ได้ว่า uricotelic