การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบปฐมภูมิ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากการที่บริเวณนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย และถูกยึดครองโดยสิ่งมีชีวิตเป็นครั้งแรก เช่น เริ่มต้นจากก้อนหินหรือดินที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ จากนั้นเริ่มมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกเกิดขึ้นมา ได้แก่ พวกมอสและไลเคน
เมื่อสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกตายไป จะกลายเป็นชั้นดินบาง ๆ แล้วจะมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มที่สองเกิดขึ้นมาแทน ได้แก่ พวกหญ้าและวัชพืชต่าง ๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตกลุ่มที่สองตายไป จะกลายเป็นชั้นดินที่หนาขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชั้นดินที่มีแร่ธาตุและสารอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตกลุ่มถัดไปเรื่อย ๆ ได้แก่ พืชจำพวกไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม จนกลายเป็นสังคมพืชในที่สุด ซึ่งสังคมของพืชนี้จะประกอบไปด้วยพืชชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่พืชจำพวกแรกไปจนถึงไม้ยืนต้น เกิดขึ้นเป็นลำดับ ๆ
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบปฐมภูมิ เช่น เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะฮาวาย หลังจากเกิดภูเขาไฟระเบิดขึ้นและลาวาไหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดหินใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งเพิ่มพื้นที่บนเกาะถึงประมาณ 32 เอเคอร์ พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมานี้จึงค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงแบบปฐมภูมิเกิดขึ้น นั่นคือ สิ่งมีชีวิตจำพวกไลเคน ค่อย ๆ แทรกตัวขึ้นมาตามดินและมันคือสิ่งมีชีวิตรุ่นบุกเบิกบนพื้นที่แห่งนี้ จากนั้นก็มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่เกิดขึ้นอีก ในแต่ละขั้นของการเปลี่ยนแปลงจะมีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งกลายเป็นสังคมสมบูรณ์ (Climax Cummunity) ในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบทุติยภูมิ เป็นการแทนที่ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตหนึ่งในพื้นที่เดิมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ดังนี้ เกิดไฟป่า มีการถากถางพื้นที่ไร่ การตัดโค่นต้นไม้ เป็นต้น ทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างที่เคยอยู่บริเวณนั้นล้มตาย ทำให้เกิดกลุ่มสิ่งมีชีวิตอื่นขึ้นมาแทนที่ ทั้งจากการเหลือรอด หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือจากการปลูกพืชของมนุษย์ โดยสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ที่เกิดขึ้นมาแทนที่มักเริ่มต้นด้วยพืชจำพวกหญ้า วัชพืช ไม้ล้มลุก ไปจนถึงไม้ยืนต้นก็ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบทุติยภูมิจะใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบปฐมภูมิ เนื่องจากพื้นดินบริเวณนั้นมีแร่ธาตุและสารอาหารครบอยู่แล้ว
จะเห็นได้ว่าป่าไม้ก็มีการรักษาตนเอง โดยการค่อย ๆ ฟื้นฟูไปที่ละลำดับขั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด แต่การเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ประเภท ก็ใช้ระยะนานพอสมควรกว่าที่ป่าไม้จะกลับสู่สภาพสังคมสมบูรณ์ตามเดิม เพราะฉะนั้นเราทุกคนจึงควรช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้อยู่กับเราไปนาน ๆ