มีงานวิจัยหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience ให้ข้อมูลว่า ในร่างกายของมนุษย์มี Endocannabinoid System (ECS) ซึ่งเป็นระบบทางสรีรวิทยาที่ควบคุมการทำงานและรักษาสมดุลของร่างกาย โดยมีสารแคนนาบินอยด์ซึ่งเป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับหน่วยรับความรู้สึกของระบบประสาทในร่างกาย มีหน้าที่ช่วยการทำงานของเซลล์ เช่น การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ความดันเลือด และอารมณ์ต่าง ๆ โดยสารชนิดนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาท (neurotransmitter)กับตัวรับ (receptors) ในเซลล์ประสาท ซึ่งในร่างกายมนุษย์จะมีต่อมรับสารชนิดนี้ เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณบอกกับร่างกายถึงอาการต่าง ๆ เช่น ง่วง เจ็บ หรือหิว นอกจากนี้สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) ยังเป็นสารที่อยู่ในกัญชาตามธรรมชาติและร่างกายมนุษย์สามารถผลิตได้ เพียงแต่ผลิตได้น้อยและอยู่ได้ไม่นาน (half-life)
ในร่างกายของมนุษย์จะมีต่อมรับแคนนาบินอยด์อยู่ทั่วร่างกาย ได้แก่ CB1 และ CB2 แต่ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะ CB1 ซึ่งอยู่ในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่ดมกลิ่น (Olfactory bulb) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับกลิ่น ดังนั้น มันจึงเป็นกลไกของสมองในการเพิ่มความไวในการดมกลิ่น โดยเฉพาะเมื่อเรามีความหิวก็จะเพิ่มความอยากอาหารด้วย ซึ่งกลไกนี้มีทั้งในมนุษย์และในสัตว์ แต่พฤติกรรมการดมกลิ่นของมนุษย์หรือความไวต่อกลิ่นของมนุษย์ถูกพัฒนาน้อยกว่าในสัตว์ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมสัตว์จึงมีความสามารถในการดมกลิ่นหรือไวต่อกลิ่นมากกว่ามนุษย์นั้นเอง
ในคนที่มีความผิดปกติของการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วนหรือโรคเบื่ออาหาร นักวิจัยคาดการณ์ว่า กลไกในการดมกลิ่นหรือความไวต่อกลิ่นจะเปลี่ยนไปอาจจะรุนแรงขึ้นหรือลดน้อยลงในผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อเทียบกับคนปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- จมูกคน จมูกสัตว์ จมูกใครดีกว่ากันแน่
- เราได้กลิ่นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร