และหากว่าเราอยากจะที่เริ่มต้นสอนภาษาที่ 2 (หรือแม้แต่ 3) ให้กับลูกเล็กด้วยตนเองนั้น จะสามารถทำได้หรือไม่ และควรเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ครูพิมมี 4 เคล็ดลับง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ
เด็กเล็ก ๆ กับภาพใหญ่ ๆ นั้น เป็นของคู่กันเลยล่ะค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเลือกใช้ภาพจากแฟลชการ์ด หนังสือนิทาน หรือภาพจากสื่ออื่น ๆ ที่มีความชัดเจน และตรงกับความเป็นจริง และใช้ภาพเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดหรือเล่าเรื่องราวที่เป็นภาษาที่ 2 ให้กับเด็ก ๆ ฟัง โดยเน้นที่การชี้ไปที่ภาพและพูดคำศัพท์นั้น ๆ ให้ช้า ๆ และชัดเจน เช่น This is a cat. The cat says Meow. (เน้นที่คำว่า cat) พร้อม ๆ กับชี้ไปที่รูปแมว เป็นต้นค่ะ
เทคนิคนี้ครูพิมเรียกว่าการบรรยายแบบสารคดี เพราะเราต้องทำเช่นนั้นจริง ๆ ค่ะ วิธีการก็คือ เมื่อลูกมองหรือสนใจสิ่งใด เราก็พูดและบรรยายถึงสิ่งนั้น โดยการบรรยายของเราไม่จำเป็นต้องยืดยาวนะคะ หากว่าคุณพ่อคุณแม่กังวลว่า ภาษาของเราก็ยังไม่แข็งแรง แล้วจะพูดอะไรกับลูก ครูพิมแนะนำค่ะว่า เราใช้เพียงรูปประโยคง่าย ๆ และเน้นการบรรยายให้ตรงกับสิ่งที่เด็กสนใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วหละค่ะ
เรื่องนี้ขอกาดอกจันตัวใหญ่ ๆ เลยนะคะ เพราะการพูดกับลูกปนกันหลายภาษา นอกจากจะไม่ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างถูกต้องแล้ว ยังอาจเป็นตัวการที่ทำให้เด็กสับสน และมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าอีกด้วยค่ะ การสอนภาษาที่ดี จึงควรเลือกใช้ทีละภาษาในแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าเราอยากจะพูดภาษาอังกฤษกับลูก ก็ควรพูดให้จบทั้งประโยคหรือทั้งเรื่องราว ไม่ใช่ปนกัน ไทยคำ อังกฤษคำ นั่นเองค่ะ
หากเรามีสิ่งของหรือรูปภาพหลาย ๆ อย่าง เราสามารถนำมาเล่นเป็นเกมเล็ก ๆ กับลูกได้นะคะ โดยการหยิบภาพหรือสิ่งของมาให้เด็ก ๆ ดู ทีละชิ้น พูดชื่อคำศัพท์นั้น แล้วให้เด็กเรียกตาม จากนั้น หยิบของอีกชิ้นหนึ่งมา สอนคำศัพท์อีกครั้ง เมื่อเด็กคุ้นเคยกับภาพหรือสิ่งของทั้ง 2 ชิ้น (หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับช่วงวัย) เรียบร้อยแล้ว ลองหยิบของทั้ง 2 ชิ้นมาวางคู่กัน แล้วให้เด็กชี้ตามคำศัพท์ที่คุณพ่อคุณแม่พูด เท่านี้ก็จะเป็นวิธีทดสอบความจำและความเข้าใจให้กับเด็ก ๆ ได้ง่าย ๆ แล้วล่ะค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก