แล้วเราจะต้องสอนหรือพูดอย่างไรดี ให้ลูกฟังและทำตามที่เราต้องการมากขึ้น โดยไม่เป็นการบีบบังคับ และทำให้การเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องง่ายขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ วันนี้ครูพิมมีคำตอบสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ มาให้แล้วค่ะ
เปลี่ยนจากการพูดว่า “ไม่วิ่ง” หรือ “อย่าปีน” และอื่น ๆ เป็นการบอกสิ่งที่อยากให้ลูกระวังแบบตรงไปตรงมา แล้วให้ลูกพูดทวนซ้ำอีกครั้งค่ะ เช่น “เดินช้า ๆ นะลูก” หรือ “เราเล่นแค่ข้างล่างนี้นะคะ” แบบนี้เป็นต้นค่ะ
เปลี่ยนจากการพูดว่า “อย่าเสียงดัง” หรือการตำหนิว่า หนวกหู รำคาญ เป็นการบอกให้เด็กลดเสียงลงด้วยคำว่า “พูดเบา ๆ หน่อยลูก” โดยที่คุณเองก็ใช้น้ำเสียงในลักษณะนั้นเช่นกัน จะเป็นการทำให้เด็กฟังเรามากกว่าที่เราจะตะโกนกลับไปหาเด็ก ๆ ค่ะ
หลาย ๆ ครั้งเวลาที่ลูกผิดพลาดเมื่อไม่ฟังคำเตือนของเรา เรามักจะถือโอกาสตำหนิ ตอกย้ำ ซ้ำเติมลูก เพราะคิดว่าครั้งหน้าลูกจะได้ไม่ทำเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตำหนิซ้ำเติม ไม่ได้ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้แต่อย่างใดค่ะ ตรงกันข้าม วิธีการที่ได้ผลมากกว่า คือการช่วยให้เด็กตระหนักหรือคิดไตร่ตรองว่า เพราะอะไรจึงเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น การถามว่า “เมื่อกี๊เกิดอะไรขึ้นนะ ลูกถึงได้เจ็บแบบนี้” เป็นต้นค่ะ
เมื่อออกคำสั่งตรง ๆ แล้วลูกไม่ฟัง การดันทุรังจึงไม่ใช่คำตอบค่ะ ครูพิมแนะนำวิธีการที่ดีและได้ผลมากกว่า นั่นก็คือ การให้ตัวเลือกกับเด็กนั่นเอง ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลือก แน่นอนว่าถูกกำหนดโดยเรา แต่เด็กจะรู้สึกว่าได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจ มากกว่าที่จะฟังคำสั่งจากเราตรง ๆ นั่นเองค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก