สำหรับแมงดาทะเลซึ่งภาษาอังกฤษเรียกมันว่า Crab ปู แต่ก็ไม่ใช่ปูเช่นกัน ส่วนชื่อเรียกภาษาไทยกลับใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า มันมีหน้าตาคล้ายแมลง แต่ขนาดใหญ่และมีขายุบยับ อาศัยอยู่ในน้ำ และแมงดาทะเลไม่ได้มีความใกล้ชิดกับแมงดานาซึ่งเป็นจัดเป็นแมลงจำพวกมวนน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า
การแบ่งหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มสัตว์มีเปลือกแข็งหุ้มนั้น แบ่งได้ง่าย ๆ ตามลักษณะตัวและรยางค์ ตระกูลแมลง (Insecta) มีขาหรือรยางค์ 3 คู่ หรือ 6 ขา พวกที่มีขามากกว่านั้นอย่างแมงมุม แมงป่อง จัดอยู่ในตระกูลอะแร็กนิดา (Arachnida) จะมีรยางค์ 4 คู่หรือ 8 ขา ส่วนกุ้ง ปู หรือพวกครัสเตเซียน จะมีขาหรือรยางค์ 5 คู่หรืออาจมากกว่่านั้น ซึ่งหากเป็นในกุ้งหรือปู คู่สุดท้ายจะเป็นรยางค์แบนคล้ายหางเสือแทน ส่วนแมงดาทะเลจัดอยู่ในตระกูลเมอโรสโตมาตา (Merostomata) มีรยางค์ 5 คู่ และความเป็นเอกลักษณ์ของมันนี้เองที่ทำให้มันเป็นที่ต้องการของผู้คนจำนวนมาก และยังใกล้สูญพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 400 ล้านปี ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับแมงดาทะเล โดยมีรยางค์ 5 คู่ มีกระดองคว่ำแข็งหุ้ม พร้อมทั้งหางยาวเหมือนกันไม่มีผิด เรียกได้ว่ามันเป็นหนึ่งในฟอสซิลที่ยังมีชีวิตในปัจจุบัน เนื่องจากวงจรการใช้ชีวิตของมันปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ก่อนที่มนุษย์เราจะครองโลก และทำให้มันเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน
ทั่วโลกมีแมงดาทะเลอยู่ 4 ชนิด ส่วนประเทศไทยมีอยู่ถึง 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วยและแมงดาจาน ต่างกันที่ความโค้งและความแบนของกระดองเกราะของมัน แต่วงจรชีวิตของทั้งสองชนิดนั้นเหมือนกัน คือ เมื่อแรกเกิดออกมาจากไข่ ซึ่งถูกวางไว้ตามหลุมในหาดทรายหรือบนบก หน้าตาของมันจะเหมือนพ่อและแม่ทุกประการ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามากและจะล่องลอยตามกระแสน้ำทะเลไปเรื่อย ๆ คอยกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและสาหร่ายและพืชน้ำเป็นอาหาร
สำหรับการเติบโตของมันเหมือนกับกุ้งและปูคือ ต้องมีการลอกคราบ ในการลอกคราบแต่ละครั้งขนาดตัวก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยขวบปีแรก ๆ จะมีการลอกคราบบ่อยมากที่สุดและค่อย ๆ ลดลงเมื่อโตเต็มไว ซึ่งอาจจะกินเวลา 9-12 ปี แมงดาทะเลตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ เนื่องจากมันจะผลิตไข่เก็บเอาไว้ในตัวรอการผสมพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อโตเต็มวัยและถึงฤดูผสมพันธุ์ แมงดาตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียตลอดฤดูกาลและตามกันขึ้นมาขุดหลุม วางไข่ ปล่อยน้ำเชื้อบนชายหาด
แมงดาทะเลเป็นที่ต้องการของมนุษย์ นอกจากจะเพื่อเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นเพราะเลือดของมันด้วย เลือดของแมงดาทะเลมีสีน้ำเงิน (Hemocyanin) เนื่องจากมีส่วนประกอบของทองแดง และเซลล์เม็ดเลือดขาวของแมงดาทะเลมีความสามารถในการตรวจจับเชื้อแบคทีเรียได้ไวมาก โดยคาดว่าเป็นเพราะแมงดาทะเลเติบโตและวิวัฒนาการขึ้นมาในยุคที่น้ำทะเลเต็มไปด้วยเชื้อโรคและแบคทีเรีย ร่างกายของมันจึงต้องพัฒนากลไกซึ่งรักษาชีวิตของมันไว้ให้ได้ ทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ใช้ประโยชน์จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของมัน โดยนำมาสกัดเป็นโปรตีนที่เรียกว่า Limulus amoebocyte lysate (LAL) และนำมาใช้เป็นสารตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในขั้นตอนการผลิตสารเคมี ยา หรือวัคซีนต่าง ๆ รวมถึงสารที่ใช้ในวงการแพทย์ โดยโปรตีนจะพุ่งเข้าไปล้อมรอบและจับตัวกับเชื้อโรคทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เพราะเหตุใดสัตว์บางชนิดจึงไม่ได้มีเลือดเป็นสีแดง