ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิเทศศาสตร์ถือเป็นคณะอันดับต้น ๆ ที่มีผู้เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของระบบสารสนเทศอุดมศึกษาบอกไว้ว่า ในปี 2560 มีนักศึกษาที่เรียนคณะนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศกว่า 43,000 คน แต่ที่ทำให้ใจหายใจคว่ำยิ่งกว่า คือผลสำรวจระบุว่า อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม เป็น 1 ใน 10 อาชีพที่เสี่ยงตกงานสูง ในปี 2561 หากมองในมุมคนทำงาน จะพบว่าคนที่โลดแล่นอยู่ในวงการนี้หลายคนไม่ได้จบตรงสายจากนิเทศศาสตร์มาเสียทีเดียว จึงไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจะใจสั่นใจคลอน เมื่อลูกพูดว่า “อยากเรียนนิเทศ” ผลที่ตามมาคือความอึดอัดของเด็ก(อยาก) เรียนนิเทศ ว่าควรทำยังไง กับยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็ทำงานสื่อได้
ถ้า passion ทำให้น้อง ๆ อยากเรียนนิเทศจนมือไม้สั่น การค้นหาข้อมูลของความเป็น “นิเทศ” คงไม่ใช่เรื่องยากน้อง ๆ อาจจะเริ่มเขียนเหตุผลออกมาก่อน ว่าทำไมจึงอยากเรียนนิเทศ อย่างเช่น
ข้อดี: เรียนแล้วมีความสุขมากแน่ ๆ ชีวิต 4 ปีไม่สูญเปล่า, เรียนการสื่อสารได้พบเจอผู้คนหลากหลาย เปิดโลกกว้างสามารถแตกแขนงไปทำงานได้หลายรูปแบบ
ข้อเสีย: คู่แข่งเพียบ เพราะเป็นทักษะที่ใคร ๆ ก็ทำได้ , ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน, เงินน้อย, ทำงานไม่เป็นเวลา
พอเขียนออกมาแล้ว ลองชั่งน้ำหนักดูว่าเรารับข้อจำกัดที่มีได้หรือไม่ ถ้ารับได้ เราจะวางแผนอุดช่องโหว่เหล่านั้นอย่างไร เราสามารถเรียนเสริมเพิ่ม skill ที่คนนิเทศทั่วไปไม่มีได้หรือเปล่า หรือเราจะสร้างรายได้เสริมอื่น ๆ ไปด้วยได้ไหม การวางแผนเหล่านี้จะช่วยประเมินสถานการณ์และหาทางแก้ไว้ นอกจากจะเพื่อตัวเองแล้ว ยังช่วยตอบคำถามคุณพ่อแม่ได้ หากท่านยังคงห่วงใยเราว่า “จบมาแล้วจะทำอะไรกิน” การวางแผนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ท่าน (รวมทั้งตัวเอง) ด้วยว่าเรามีความมุ่งมั่น และมีระบบการคิดที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจริง ๆ
เรื่องหลักสูตรการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยสำคัญมาก หลาย ๆ คณะเปิดให้ดาวน์โหลดเพื่อดูรายวิชาที่จะต้องเรียนในแต่ละปี และด้วยกระแสสังคมทุกวันนี้ยังส่งผลให้หลายสถาบันชั้นนำ ต่างปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมสื่อยุคใหม่มากขึ้น ทั้งสาขาวิชาด้านการตลาดดิจิทัล กลยุทธ์สื่อ สิ่งพิมพ์ออนไลน์ หรือวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และกระตุ้นให้เด็กนิเทศรู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น และยังอยู่บนพื้นฐานแห่งจรรยาบรรณสื่อที่ดีงามและยั่งยืน
เมื่อข้อมูลมันล้นอกขนาดนี้แล้ว น้อง ๆ อาจจะเริ่มเข้าใจความเป็น “นิเทศศาสตร์” มากขึ้น และเริ่มกลับมามองตัวเองว่า เราอยากเรียนนิเทศจริงหรือ ไม่ใช่เพียงแค่หนีวิชาที่ไม่ชอบ (อย่างฟิสิกส์ เคมี) หรือเพราะเหตุผลอื่น
ตัวอย่างของน้องม.ปลาย คนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมใน "โครงการ ทำ ก่อน ฝัน" ได้เล่าให้เราฟังว่า แม่ของน้องไม่อยากให้เรียนนิเทศ ด้วยเหตุผลที่เดาไม่ยาก จากกระแสสังคมกำลังถาโถม น้องรู้ตัวดีว่าอยากเป็นพิธีกร เป็นนักข่าว ชอบทำกิจกรรมด้านการสื่อสารร่วมกับโรงเรียนมาตลอด แต่ความไม่สบายใจของผู้ปกครอง ส่งผลให้น้องตัดสินใจเรียนปริญญาตรีในสาขาอื่น แล้วปล่อยให้ passion ของตนเองทำงานต่อไป หลังจบปริญญาตรี เธออาจจะต่อปริญญาโทนิเทศ หรือหาคอร์สเรียนพูดหรือสอบผู้ประกาศเพิ่มเติมเพื่อไม่ทิ้งความฝันที่มี ทางออกนี้ช่วยสร้างความสุขให้ได้ทั้งครอบครัว และตัวน้องเอง
สุดท้ายนี้ อยากให้น้อง ๆ ที่กำลังลังเลใจ หรือหาทางออกไม่ได้ลองปรับความคิดใหม่ว่า แท้จริงแล้วสิ่งสำคัญในการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพอาจมาจากปัจจัยภายในตัวเราเป็นหลักใหญ่ ในโลกของการทำงานอาจไม่ได้มองหาคนที่มีทักษะทางทฤษฎีเหนียวแน่น แต่กลับเฟ้นหาประสบการณ์และทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้ คนที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์มักได้เปรียบเสมอ ความสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีมถือเป็นหลักสำคัญที่เด็กนิเทศควรยึดถือ
อีกนัยหนึ่งนิเทศศาสตร์ ยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตบุคลากรคุณภาพที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้จากสิ่งที่เรียนด้วยดีไซน์และเทคนิคทางวิชาชีพ เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวผ่าน platform ใหม่ ๆ ได้อย่างยั่งยืน