Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง

Posted By Plook Parenting | 12 มี.ค. 62
19,137 Views

  Favorite

คุณแม่หลายคนมักสงสัยว่า ช่วงตั้งครรภ์นี้คุณแม่ท้องรับประทานอะไรได้บ้าง อะไรควรควบคุมปริมาณ และอะไรควรงดเด็ดขาด

 

อาหารในช่วงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะตอนนี้คุณแม่มีอีกหนึ่งชีวิตในท้อง สารอาหารที่เขาจะได้รับต่อจากนี้มาจากคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่ควรมั่นใจว่ารับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และหลากหลาย เพื่อให้ลูกในครรภ์ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่ถึงกระนั้นก็มีอาหารที่คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะหากรับประทานเข้าไปอาจได้รับโทษมากกว่าคุณประโยชน์ก็เป็นได้

 

1. อาหารรสจัด

ภาพ : Shutterstock

 

คุณแม่ควรงดอาหารรสจัดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรืออาหารที่มีการปรุงแต่งมาห ๆ เพราะช่วงตั้งครรภ์นี้ระบบย่อยอาหารของคุณแม่จะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม หากกินอาหารรสจัด อาจส่งผลให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสียได้

 

2. ของทอด หรืออาหารไขมันสูง

ภาพ : Shutterstock

 

ของทอดและอาหารไขมันสูง ร่างกายของคุณแม่จะย่อยยาก อีกทั้งทำให้ท้องอืด แน่นท้อง และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ช่วงตั้งครรภ์แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกนี้ไปก่อน

 

3. อาหารกระป๋อง / อาหารสำเร็จรูป

ภาพ : Shutterstock

 

อาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูป มักมีสารเคมีเจือปนไว้โดยที่เราไม่รู้ เช่น สารกันบูด เป็นต้น รวมไปถึงอาหารจำพวกไส้กรอก กุนเชียง เพราะอาหารเหล่านี้มีไนเตรตค่อนข้างสูง อาจส่งผลให้เม็ดเลือดแดงของคุณแม่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายลำบาก อาจทำให้ลูกในครรภ์ขาดออกซิเจนตามไปด้วย

 

4. อาหารดิบ / ปรุงไม่สุก

ภาพ : Shutterstock

 

ของดิบเต็มไปด้วยเชื้อโรคต่าง ๆ มากมาย คุณแม่ควรเลี่ยงการกินของดิบ หรือของกึ่งสุกกึ่งดิบทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่าง ๆ อันจะเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์

 

5. ของหมักดอง

ภาพ : Shutterstock

 

ของหมักของดองเสี่ยงต่อการติดเชื้ออยู่แล้ว เพราะอาจผ่านกระบวนการทำที่ไม่สะอาดเท่าที่ควร ส่งผลให้ร่างกายติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น จนอาจทำให้คุณแม่คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ซึ่งส่งผลกระทบกับลูกในครรภ์โดยตรง

 

6. อาหารตากแห้ง

ภาพ : Shutterstock

 

อาหารตากแห้งอาทิ ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง กุ้งแห้ง ปลาหมึกตากแห้ง ฯลฯ ก็เป็นอีกจำพวกหนึ่งที่มีไนเตรตสูง ยิ่งกินเข้าไปจะยิ่งทำให้ร่างกายคุณแม่ได้รับออกซิเจนน้อยลง จนอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้

 

7. อาหารที่ปรุงด้วยผงชูรส

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้ผงชูรสจะช่วยชูรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น แต่วัตถุดิบจากธรรมชาติอื่น ๆ ก็ช่วยชูรสชาติอาหารได้เช่นกัน ทางที่ดีคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากผงชูรสไว้ดีที่สุด เพราะเป็นการป้องกันอาการแพ้ผงชูรสที่อาจเกิดกับคุณแม่และลูกในท้องได้

 

8. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ภาพ : Shutterstock

 

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เป็นอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกจากจะไม่ให้คุณค่าทางโชนาการแล้ว ยังเต็มไปด้วยผงปรุงรสต่าง ๆ จนอาจทำให้คุณแม่ได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็นได้อีกด้วย คุณแม่ควรงดรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดกับลูกในครรภ์

 

9. อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน ๆ

ภาพ : Shutterstock

 

คุณแม่ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เพราะร่างกายจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน และมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย หากอาหารนั้นปรุงทิ้งไว้นานแล้ว ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียแฝงตัวอยู่ในอาหาร จนทำให้คุณแม่ท้องอืด แน่นท้อง และท้องเสียได้

 

10. ขนมหวานต่าง ๆ

ภาพ : Shutterstock

 

ขนมหวานทั้งหลายที่อาจเพิ่มน้ำหนักให้คุณแม่ เช่น ขนมเค้ก โดนัท ไอศกรีม น้ำหวาน และขนมไทยต่าง ๆ ควรรับประทานแต่น้อยในปริมาณที่เหมาะสมดีที่สุด เพราะหากคุณแม่ได้รับน้ำตาลและทรานส์แฟตมากเกินไป อาจส่งผลให้คุณแม่เป็นโรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่อาจส่งผ่านไปยังลูกในครรภ์ได้

 

11. อาหารเสริมและวิตามิน

ภาพ : Shutterstock

 

ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมอจะจ่ายยาบำรุงครรภ์ให้กับคุณแม่อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมหรือวิตามินเพิ่มเติม เพราะหากร่างกายได้รับอาหารเสริมหรือวิตามินมากเกินไปก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน

แนะนำว่า สารอาหารจากอาหารปรุงสุกใหม่ และวิตามินบำรุงครรภ์จากคุณหมอ ก็ช่วยให้คุณแม่ได้รับคุณประโยชน์ครบถ้วนที่สุดแล้ว

 

12. อาหารที่มีไขมันทรานส์

ภาพ : Shutterstock

 

อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เป็นอาหารที่มีไขมันชนิดที่อันตรายสูงสุด เพราะไขมันตัวนี้จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) ซึ่งหากมีในร่างกายมาก ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจได้ทั้งแม่และลูก นอกจากนี้ น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มจนควบคุมไม่อยู่ด้วยก็ได้

 

13. ปลาบางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

อาทิ ปลากระโทงแทง ปลาดาบ ซึ่งมีสารปรอทตามธรรมชาติสูง รวมไปถึง ปลาดุก ปลาอินทรี ปลาไส้ตัน และปลาซาร์ดีน ซึ่งมีสาร Purine สูง  อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเกาต์ได้ ดังนั้น คุณแม่ควรควบคุมปริมาณการรับประทานเนื้อปลาเหล่านี้ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการได้รับสารต่าง ๆ ที่มากเกินไป

 

14. ผักบางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้ผักจะเป็นอาหารที่คุณแม่จำเป็นต้องกิน แต่ก็มีผักบางชนิดที่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ๆ นั่นก็คือ ตำลึง ยอดมะระ ยอดฟักแม้ว กระถิน ชะอม ขี้เหล็ก ฯลฯ เพราะในผักเหล่านี้มีสาร Purine อยู่ในปริมาณมาก หากคุณแม่รับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ได้ แนะนำให้สลับสับเปลี่ยนเมนูผักในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม

 

15. ผลไม้บางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

อาทิ มะม่วงดิบ ทุเรียน รวมไปถึงผลไม้รสจัด เช่น ลำไย เงาะ น้อยหน่า และผลไม้แปรรูปต่าง ๆ เพราะผลไม้เหล่านี้รสชาติค่อนข้างหวาน ทำให้คุณแม่เสี่ยงเป็นเบาหวานได้ นอกจากนี้ยังย่อยค่อนข้างยาก อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามไม่ให้รับประทานเสียทีเดียว เพียงแต่คุณแม่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

 

16. นมสดและชีสบางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

นมและชีสบางชนิด ยังไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนหรือฆ่าเชื้อ เช่น บลูชีสต่าง ๆ อาจส่งผลให้คุณแม่ได้รับเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียที่แฝงอยู่ในนมหรือชีสได้ง่าย หากคุณแม่อยากรับประทานนมหรือชีส ควรอ่านฉลากด้านข้างก่อนว่าผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้วหรือยัง

 

17. ถั่วบางชนิด

ภาพ : Shutterstock

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถั่วลิสง เพราะถั่วลิสงสารมารถกระตุ้นให้เด็กในครรภ์เกิดอาการแพ้ได้ หากคุณพ่อคุณแม่เคยแพ้ถั่วลิสงมาก่อน ควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วลิสงโดยเด็ดขาด แต่หากไม่มีประวัติเคยแพ้ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

 

18. น้ำอัดลม

ภาพ : Shutterstock

 

น้ำอัดลม ประกอบไปด้วยน้ำตาล น้ำ และคาเฟอีน ซึ่งไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลย ซ้ำร้ายยังส่งผลให้คุณแม่น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว และท้องอืดท้องเฟ้อ จนส่งผลไปถึงอาการกรดไหลย้อนได้อีกด้วย

 

19. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ภาพ : Shutterstock

 

อาทิ ชา กาแฟ โอเลี้ยง ชาเย็น ชาเขียว และช็อกโกแลต หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลให้คุณแม่ใจสั่น และนอนไม่หลับ เพราะคาเฟอีนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้ตื่นตัวยิ่งขึ้น จนทำให้ร่างกายคุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้เครื่องดื่มเหล่านี้ยังอาจส่งผลให้คุณแม่ท้องผูกได้อีกด้วย

 

20. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ภาพ : Shutterstock

 

ในช่วงตั้งครรภ์จนกระทั่งให้นมลูก ข้อห้ามที่คุณแม่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด คือ การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการโดยรวมของลูกในระยะยาว ไม่จะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย ไปจนถึงสติปัญญา

 

ช่วงนี้คุณแม่ต้องพิถีพิถันเรื่องการกินมากเป็นพิเศษ เพราะสารอาหารที่ได้จะส่งต่อไปยังลูกน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้น อาหารแต่ละมื้อคุณแม่ควรดูแลให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเบา ๆ บ้าง เพื่อส่งต่อสุขภาพที่แข็งแรงสู่ลูกในครรภ์นั่นเอง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow