Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปั้นลูกรักให้เป็นนักอ่านได้ใน 4 ขั้นตอน

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 01 มี.ค. 62
3,619 Views

  Favorite

คำว่า "นิสัยรักการอ่าน" แม้จะเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันมานานมากแล้ว เรียกว่าตั้งแต่ครูพิมเริ่มจำความได้ ก็ได้ยินคำ ๆ นี้แล้วหละค่ะ แต่ก็น่าแปลก ที่ทุกวันนี้ นิสัยรักการอ่าน ก็ยังไม่ใช่นิสัยที่ติดตัวเด็กไทยเสียที

 

แล้วยิ่งมาเจอกับยุคที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ เข้าถึงได้ง่าย ๆ แบบนี้แล้วนั้น นิสัยรักการอ่าน ที่ว่านี้ จึงมีท่าทีว่าจะสร้างได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

โชคดีค่ะ ที่นิสัยรักการอ่านนี้ เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ หากเราคิดจะทำจริง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงก็คือ เด็กจะเป็นนักอ่านได้หรือไม่ เราเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมคุณลักษณะนี้ให้กับเด็ก ๆ ค่ะ และวันนี้ครูพิมได้สรุปขั้นตอน ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วยตนเอง ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ  4 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. ตรวจสอบความผิดปกติในการอ่านของลูก

ที่ครูพิมยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นข้อแรก เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะตีความว่า เด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ คือเด็กขี้เกียจ หรือเป็นเด็กดื้อ ไม่มีสมาธิ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กบางคนอาจจะมีความบกพร่องเกิดขึ้นในด้านการอ่านเขียน (Dyslexia) ก็เป็นได้ค่ะ ซึ่งความผิดปกตินี้ เราอาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง การพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหานี้ค่ะ

2. อ่านกับลูก

หลาย ๆ ครั้ง เรามักจะออกคำสั่ง หรือ แนะนำให้เด็ก ๆ หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่ตัวเราเองกลับเลือกที่จะใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมอื่น ที่ไม่ได้ใกล้เคียงหรือเป็นตัวอย่างในแง่ของการอ่านให้กับเด็ก ๆ ได้เห็นเลย เด็ก ๆ จึงไม่เชื่อถือหรือทำตามในสิ่งที่เราบอกหรือสอนนั่นเองค่ะ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้และให้ผลดีกับเด็ก ๆ อย่างแน่นอน ก็คือการที่เราเป็นนักอ่านไปกับลูกด้วย หรือหากไม่สะดวกที่จะอ่านหนังสือไปกับเด็ก ๆ จริง ๆ เราก็เลือกที่จะอ่านหนังสือที่เราชอบให้ลูกได้เห็นเป็นตัวอย่างก็ยังดีค่ะ

3. ให้กำลังใจลูก

ทันทีที่เด็ก ๆ แสดงความอยากเขียนอยากอ่าน หรือแสดงความสนใจในตัวหนังสือ เรื่องราว หรือข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในสายตาของเขา จุดนี้อาจจะทำให้เขาเริ่มต้นด้วยการเป็นนักถามหรือเจ้าหนูจำไมไปบ้าง แต่ก็อย่าเพิ่งรำคาญหรือไม่ใส่ใจนะคะ เพราะสัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ หากว่าได้รับการตอบสนองที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะเป็นใบเบิกทางให้กับเด็ก ๆ ในการผันตัวเองไปเป็นยอดนักอ่านได้ไม่ยากเลยค่ะ

4. สร้างพื้นที่อ่านหนังสือให้กับลูก

คำว่า สร้างพื้นที่ ในที่นี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสร้างห้องหรือกั้นเขตเฉพาะเจาะจงอะไรขนาดนั้นนะคะ แต่พื้นที่ในที่นี้ อาจจะเป็นเพียงมุมประจำสำหรับการอ่านหนังสือ หรือเป็นสถานที่นอกบ้านที่เรากับลูกเลือกใช้เป็นที่อ่านหนังสือสุดโปรด หรืออาจจะหมายถึงพื้นที่ทางด้านเวลาก็ได้ค่ะ เพราะพื้นที่ในที่นี้ ก็คือการสร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ ในการใช้เวลากับหนังสือที่เขาสนใจได้อย่างผ่อนคลายและมีอิสระนั่นเองค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow