ชาวบ้านที่บ้านขุนแม่หยอดยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก ไร่หมุนเวียนคือระบบการเกษตรบนพื้นที่สูง ที่มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 ปี แล้วจะปล่อยพื้นที่ดังกล่าวพักฟื้นในระยะยาวอย่างน้อย 7-10 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ได้มีการศึกษาว่า ถ้าจะให้ดินดีเพื่อที่เวลาหมุนกลับมาเพาะปลูกแล้วจะได้ผลผลิตงาม ควรให้ดินได้พักฟื้น 7 ปีขึ้นไป ดังนั้น ไร่หมุนเวียนที่บ้านขุนแม่หยอดจึงมีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์มาก เพราะมีการพักฟื้นผืนดินถึง 12 ปี !
เราได้เดินเก็บผลผลิตในไร่หมุนเวียนกับชาวบ้าน แล้วก็ต้องตกใจเพราะในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เราสามารถเก็บผลผลิตมาได้ถึง 45 ชนิด ความน่าสนใจมันอยู่ที่ผลผลิตมากมายเหล่านี้ขึ้นแซมอยู่ในแปลงข้าวไร่ ที่ผลผลิตมากมายขึ้นแซมในแปลงข้าวไร่ นั่นก็เพราะในช่วงปักไร่ หรือการหว่านข้าวไร่ ชาวบ้านจะหว่านไปพร้อมกับเมล็ดพันธุ์อื่น ๆ ด้วยนั่นเอง
อาหารเที่ยงที่เรากินในไร่หมุนเวียนวันนั้น คือเมนูที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาด้านอาหารของพี่น้องปกาเกอะญอ นั่นก็คือ ‘ต่าจึที’ หรือ ‘แกงเย็น เป็นเมนูที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการถนอมอาหารให้กินได้ทั้งวันแบบไม่ต้องอุ่นซ้ำ โดยมีส่วนผสมหลักเป็นของแห้ง เช่น ปลาย่าง ลูกมะกอก บะเก่อเออ (ผักกาดแห้ง) เป็นต้น เราว่าเป็นเมนูที่ช่วยคลายร้อนได้ดีมาก เพราะเย็นตามชื่อจริง ๆ
เราได้พูดคุยกับคนในชุมชนหลายคน เลยได้ทราบว่า สิ่งที่พี่น้องปกาเกอะญอบ้านขุนแม่หยอดคาดหวัง คือความเข้าใจจากสังคม การยอมรับ และสิทธิในการทำกินควบคู่กับการอยู่ดูแลป่าบนผืนดินดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ เพราะช่วงเวลาร่วม 200 กว่าปีที่ผ่านมา ชุมชนได้พิสูจน์แล้วว่าพื้นที่ที่ตนอยู่ยังคงมีป่า มีนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหาร และมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาผูกพันและคล้อยตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Must Know • ไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ ไร่เลื่อนลอย เพราะไร่เลื่อนลอย คือ ระบบเกษตรที่ทำซ้ำย้ำที่เดิมเป็นเวลาหลายปี จนดินเสื่อม ธาตุอาหารสลาย • นอกจากทำไร่หมุนเวียนแล้ว ชาวบ้านที่นี่ก็ยังปลูกกาแฟ |
เรื่อง : นพชนกและธีรชาติ ชัยประเสริฐ
ภาพ : ธีรชาติ ชัยประเสริฐ