การจามเป็นการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นภายในรูจมูกของเรา โดยการไล่อากาศผ่านจมูกและปากด้วยความเร็วสูง ซึ่งความเร็วของลมที่เราจามออกมานั้นมีความเร็วถึงประมาณ 100-200 ไมล์ต่อชั่วโมง และจากการจาม 1 ครั้ง เราสามารถส่งเชื้อโรคออกสู่บรรยากาศได้ถึง 100,000 ตัว นอกจากนี้สิ่งที่เราจามออกมาไม่ว่าจะเป็นอนุภาคหรือละอองฝอย นักวิทยาศาสตร์จาก MIT กล่าวว่า มันอาจจะถูกส่งไปได้ไกลถึง 25 ฟุต ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านหู จมูก คอ แห่ง University Hospitals of Leicester NHS กล่าวว่า จริง ๆ แล้วมันอาจจะไปได้ไกลถึง 34 ฟุตเลยด้วยซ้ำ
การจามเป็นรีเฟล็กซ์อย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันร่างกายเป็นอันดับแรกจากแบคทีเรียหรือแมลง มันจะช่วยเคลียร์จมูกของเราให้ปราศจากสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกระตุ้น โดยกระบวนการจามเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกระตุ้นเข้าสู่จมูก ปลายประสาทรับความรู้สึกที่อยู่ในจมูกจะส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensoy Nerve) ไปยังศูนย์การจาม (Sneezing Center) ซึ่งอยู่ที่แลเทอรอล เมดัลลา (Lateral Medulla) บริเวณก้านสมอง (Brainstem) จากนั้นจะส่งคำสั่งผ่านเส้นประสาทสั่งการ (Motor Nerve) ไปยังดวงตา จมูก ปอด กะบังลม กล้ามเนื้อหน้าอกและปาก เพื่อให้จามเอาสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกระตุ้นออกไป โดยเมื่อเราจะจาม ร่างกายจะเตรียมพร้อมโดยการปิดตาลงเพื่อเป็นการป้องกันดวงตาจากเชื้อโรค ลิ้นจะเคลื่อนไปแตะบนเพดานปาก กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะหดตัว
สำหรับบางคนอาจมีน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งไหลออกมาทางจมูกด้วย นั่นเป็นเพราะศูนย์การจามจะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ทำงานโดยเพิ่มการสร้างสารคัดหลั่งพวกเมือกใสหรือน้ำมูกและน้ำตา ซึ่งจะย้อนกลับมากระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกในจมูกอีกครั้งเพื่อให้ร่างกายจามสิ่งแปลกปลอมออกมา
นอกจากสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกระตุ้นที่เราได้รับผ่านรูจมูกแล้ว ยังมีสาเหตุบางอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เราจามได้ด้วย เช่น การถอนขนคิ้ว เนื่องจากการถอนขนคิ้วอาจจะทำให้กระแสประสาทเดินทางออกจากใบหน้าของเราซึ่งมีรูจมูกรวมอยู่ด้วย และกระแสประสาทนั้นจะทำให้เกิดการจามขึ้นได้ หรือการออกกำลังกายก็อาจจะทำให้เกิดการจามได้ เนื่องจากการมีไหลเวียนโลหิตสูง ทำให้ต้องหายใจเข้าออกแรง ๆ ผลก็คือจมูกและปากจะแห้ง ดังนั้น จมูกจึงตอบสนองโดยการปล่อยสารคัดหลั่งออกมา ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้จามเช่นกัน ที่สาเหตุที่แปลกยิ่งกว่าสองสาเหตุดังกล่าว ก็คือ การจามเมื่อมองดูดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นภาวะที่รู้จักกันในชื่อ Photic Sneeze Reflex หรือ Solar Sneeze Reflex ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้จะจามเมื่อมองไปที่แสงจ้านั่นเอง
หลายคนอาจเคยได้ยินหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับการจาม เช่นว่า หากเราลืมตาตอนที่จาม ความดันภายในอาจจะทำให้ตาของเรากระเด็นหลุดออกมานอกเบ้า ซึ่งนั่นไม่เป็นเรื่องจริงเลย เพราะดวงตาของเรามีการยึดกับศีรษะอย่างหนาแน่น ขณะที่ความดันจากการจามเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันไม่ได้มากพอจะดันให้ดวงตาหลุดออกมานอกเบ้าได้เลย อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเราก็สั่งการอย่างอัตโนมัติเพื่อให้เราหลับตาขณะจาม เป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาอยู่ดี
อีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับการจามก็คือ หัวใจอาจจะหยุดเต้นได้ ขณะที่จาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมื่อกล้ามเเนื้อบริเวณหน้าอกมีการหดตัวจากการจาม เส้นทางการไหลเวียนของเลือดจะตีบลงชั่วขณะ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะทำให้หัวใจหยุดเต้นแต่อย่างใด
เมื่อเราอยู่ในสถานที่บางแห่ง เช่น ห้องประชุม โรงพยาบาล เรามักจะหลีกเลี่ยงการทำเสียงดัง รวมถึงการจามด้วยการกลั้นจาม แต่การกลั้นจามนั้นมีความอันตรายถึงชีวิตซ่อนอยู่ และแพทย์ก็เตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากเคยมีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจากการที่ไม่สามารถกลืนหรือพูดได้หลังจากบีบจมูกและปากเพื่อกลั้นจาม อาการของเขาคล้ายกับอาการของ Boerhaave’s syndrome ซึ่งเป็นภาวะของหลอดอาหารทะลุเนื่องจากการอาเจียนอย่างรุนแรง แต่กรณีการกลั้นจามนั้น ความดันที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการฉีกขาดในลำคอบริเวณคอหอย นอกจากนี้แพทย์ยังพบว่า มีเสียงแปลก ๆ และเสียงที่เหมือนบางอย่างแตก ดังออกมาจากบริเวณคอไปจนถึงกระดูกซี่โครง ซึ่งมาจากการที่อากาศจากปอดถูกแรงดันผ่านเข้าไปเป็นฟองอากาศอยู่ในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อช่วงหน้าอก และไม่สามารถเอาฟองอากาศนั้นออกไปได้