หากเวลาที่ใช้ เป็นเวลาของการต่างคนต่างอยู่ หรือเวลาแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง นั่นก็คงไม่ใช่นิยามของการใช้เวลาร่วมกันที่ครูพิมกำลังพูดถึง ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูวิธีการดี ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับลูก ๆ ได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นกันดีไหมคะ
วันนี้ครูพิมมีมาฝากถึง 5 วิธีการด้วยกันค่ะ
ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่ก็มีหลาย ๆ ท่านที่ยังไม่ตระหนักถึง เพราะการที่เรามีเรื่องรบกวนหรือดึงความสนใจของเราตลอดเวลา มักจะไม่ทำให้เราสื่อสารกับลูกได้ต่อเนื่องนัก และหลาย ๆ ครั้งก็เป็นสาเหตุให้เราเกิดความหงุดหงิดใจใส่ลูกได้ เพราะคิดว่าลูกไม่รู้จักรอ ซึ่งความเป็นจริง ควรเป็นเราที่วางสิ่งเหล่านี้ลงก่อนค่ะ
หลาย ๆ ครั้งเรามักเริ่มต้นสนทนาหรือทำกิจกรรมกับลูกด้วย “ความสนใจของเรา” เช่น เนี่ยแม่ว่าเรามาอ่านหนังสือเล่มนี้กันดีกว่า จะได้เก่ง ๆ หรือ พ่อคิดว่าเราควรเล่นของเล่นอันนี้กันนะครับ มันมีประโยชน์มากกว่า จริง ๆ แล้วการพูดเช่นนี้กับเด็กก็ไม่ผิดค่ะ แต่จะดีมากกว่าหากเราเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองเสนอความสนใจของตนเอง หรือเข้าไปร่วมสนใจสิ่งที่เด็กกำลังอินบ้าง แทนที่จะเป็นการดึงเด็กให้มาสนใจสิ่งที่เราอยากให้เขาสนใจเพียงอย่างเดียว
หลาย ๆ ครั้งที่เด็กทำผิดหรือทำพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการ การลงโทษจึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนในความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก แต่ก็ใช่ว่าการลงโทษจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเสมอไป หากเรารู้จักเลือกใช้วิธีการลงโทษ หรือสร้างวินัยเชิงบวกกับเด็ก แทนการลงโทษด้วยวิธีเดิม ๆ เช่น การตี ตำหนิอย่างรุนแรง หรือทำร้ายจิตใจด้วยวิธีการต่าง ๆ ค่ะ
การแสดงความรักอย่างตรงไปตรงมา ยังคงเป็นหัวใจสำคัญเสมอสำหรับความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการหอม กอด สัมผัสอย่างอ่อนโยน บอกรัก หรืออื่น ๆ แต่ที่สำคัญก็คือ สิ่งเหล่านี้เราต้องทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ
การนั่ง ๆ นอน ๆ พูดคุยกันแบบชิว ๆ เป็นหนึ่งในวิธีการที่เชื่อมโยงผู้คนให้รู้สึกดีต่อกันได้ไม่ยากเลยค่ะ โดยเฉพาะเมื่อการพูดคุยนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวในความทรงจำ ทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องราวในครอบครัวมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างคุณกับลูกได้อีกด้วย เพราะหลาย ๆ ครั้ง การพูดคุยถึงเรื่องราวเก่า ๆ ก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น และทำให้ลูกรู้จักตัวคุณในมุมมองอื่น ๆ มากขึ้นด้วยค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก