Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมบัติของพอลิเมอร์

Posted By sanomaru | 13 ก.พ. 62
198,211 Views

  Favorite

หากมองไปรอบ ๆ ตัว ข้าวของเครื่องใช้ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพลาสติก ขณะที่บางอย่างก็เป็นยาง ซิลิโคน เส้นใยจากพืชหรือจากสัตว์ เหล่านี้ก็คือชนิดของพอลิเมอร์ (Polymers) ซึ่งพอลิเมอร์นั้นอาจเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติหรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ก็ได้

 

สำหรับพอลิเมอร์ธรรมชาติ เป็นพอลิเมอร์ที่ได้มาจากธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ครั่ง ยางเรซิน เส้นใยเซลลูโลสที่นำมาใช้ในการผลิตกระดาษหรือสิ่งทอ เป็นต้น ส่วนพอลิเมอร์สังเคราะห์ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มนุษย์ผลิตขึ้น จะพบได้ในรูปของพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีทั้งพลาสติกที่มีความยืดหยุ่น (เทอร์โมพลาสติก) และพลาสติกที่มีความแข็งอย่างถาวร (เทอร์โมเซต)

 

พอลิเมอร์มาจาก คำว่า "พอลิ (Poly-)" ซึ่งหมายถึง จำนวนมาก และ "เมอร์ (-mer) ซึ่งหมายถึง ส่วน ดังนั้น โพลิเมอร์ ก็คือ สารประกอบทางเคมีที่ประกอบไปด้วยโมเลกุลเล็ก ๆ ชนิดเดียวกันจำนวนมากถึงเกือบล้านโมเลกุล มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนซ์เป็นสายโซ่ยาว และโมเลกุลเล็ก  ๆ จำนวนมากเหล่านี้ก็คือ มอนอเมอร์ (Monomer)

ภาพ : Shutterstock

 

พอลิเมอร์ถูกนำมาใช้ผลิตทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของเล่น วัสดุก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย เนื่องจากพอลิเมอร์มีสมบัติพิเศษหลายประการ จึงสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันได้อย่างหลากหลาย ซึ่งสมบัติพิเศษของพอลิเมอร์นั้น ได้แก่

 

1. ทนต่อสารเคมี

สังเกตได้จากน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ภายในบ้านที่่มักมีบรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติก น้ำยาเหล่านี้มีความรุนแรงที่สร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา หรือหากเข้าสู่ร่างกายก็อาจทำลายอวัยวะภายในได้ แต่สำหรับพลาสติกแล้วสามารถทนทานต่อสารเคมีเหล่านี้ได้ แม้ว่าตัวทำละลายอาจละลายพลาสติกบางชนิดได้ง่าย แต่พลาสติกส่วนใหญ่ก็ยังมีความทนทานต่อสารเคมีและมีความปลอดภัยอยู่ดี

 

2. ทนทานต่อแรงกระแทก

พลาสติกบางชนิดมีความทนทานต่อแรงกระแทก การใช้งานที่สมบุกสมบัน ซึ่งถูกนำมาใช้ผลิตกระเป๋าเดินทาง กันชนรถยนต์ เป็นต้น

 

3. มีความเหนียวและยืดหยุ่น

พอลิเมอร์บางชนิดสามารถทำให้ร้อนและเปลี่ยนรูปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งสมบัตินี้ทำให้ง่ายต่อกระบวนการผลิตและสะดวกต่อการรีไซเคิล สามารถนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารด้วยการฉีดขึ้นรูปได้ นอกจากนี้ด้วยสมบัติความยืดหยุ่น เช่น ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ก็สามารถนำไปผลิตเป็นยางรถยนต์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการสมบัติความยืดหยุ่นได้

ภาพ : Shutterstock

 

4. เป็นทั้งฉนวนความร้อนและฉนวนไฟฟ้า

พอลิเมอร์เป็นทั้งฉนวนความร้อนและฉนวนไฟฟ้า และด้วยสมบัตินี้เราจึงเห็นอุปกรณ์จำพวกสายไฟ ปลั๊กไฟฟ้า ผลิตหรือถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุพอลิเมอร์ ส่วนสมบัติเป็นฉนวนความร้อนจะเห็นได้ชัดเจนจากหูหม้อหรือด้ามกระทะ ที่ทำจากพอลิเมอร์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถทำอาหารได้อย่างสะดวกขึ้น แม้แต่ตู้เย็นหรือกระติกน้ำก็มีพอลิเมอร์เป็นองค์ประกอบด้วยเช่นกัน

 

5. มีน้ำหนักเบา

พอลิเมอร์มีน้ำหนักเบา ซึ่งระดับความแข็งแรงและน้ำหนักของพอลิเเมอร์นั้นจะแปรผันตามกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงมีการนำไปประยุุกต์ใช้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ของเล่นเด็กไปจนถึงโครงสร้างของสถานีอวกาศ นอกจากนี้พอลิเมอร์บางชนิดยังสามารถลอยน้ำได้ ขณะที่บางชนิดก็จมน้ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบความหนาแน่นระหว่างหิน คอนกรีต เหล็ก ทองแดง หรืออะลูมิเนียมแล้ว พลาสติกทุกชนิดมีน้ำหนักเบากว่าวัสดุที่กล่าวมาอยู่ดี

ภาพ : Shutterstock

 

ด้วยสมบัติพิเศษของพอลิเมอร์ที่กล่าวมานี้ ทำให้มีการศึกษาวิจัยพอลิเมอร์แต่ละชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเวชภัณฑ์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป เช่น ปรับปรุงอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อผลิตรถที่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม ประหยัดเชื้อเพลิง และปลอดภัยยิ่งขึ้น นำมาผลิตถุงเลือดเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาเลือด การทำผิวหนังเทียมจากซิลิโคน ตลอดจนอาจใช้ประโยชน์ในเรื่องของ anti aging ในอนาคตอีก

 

พลาสติกรวมถึงพอลิเมอร์ชนิดอื่น ๆ ยังคงเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน อาจจะเป็นไปได้ยากที่เราจะเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกหรือพอลิเมอร์อย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยเราก็ควรเลือกใช้สิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ขยะล้นโลกและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- พลังงานพันธะ
- พันธะเคมี : พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ พันธะโลหะ
- ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร
- 'ซิลิโคน' คืออะไร
- พอลิเมอร์ในชีวิตประจำวัน
- การเกิดพอลิเมอร์
- พอลิเมอร์
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow