ธูปประกอบไปด้วยสมุนไพรและผงไม้ 21% วัตถุให้กลิ่นหอม 35% ผงที่ทำให้ส่วนผสมต่าง ๆ หนืดติดกัน 11% และไม้ไผ่เหลาก้าน 33% โดยหลังจากที่เราจุดธูปแล้ว ควันของมันจะประกอบไปด้วยฝุ่นละอองและแก๊สต่าง ๆ ซึ่งบางคนอาจรู้สึกว่ากลิ่นของควันธูปนั้นช่วยให้จิตใจสงบลงได้ ขณะที่งานวิจัยบางงานก็แสดงให้เห็นว่า กลิ่นจากควันธูปมีผลในเชิงบวกต่อสมอง ช่วยบรรเทาความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ คล้ายกับการบำบัดด้วยกลิ่น
จากการทำงานวิจัย ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) และมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม พบว่า มีสารชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการจุดหรือการเผาไหม้ของธูป ซึ่งเมื่อทดสอบกับหนูทดลองแล้วทำให้ความเครียดลดลงและมีส่วนต้านพฤติกรรมซึมเศร้าได้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า สารนี้ส่งผลต่อพื้นที่บางส่วนในสมอง และพื้นที่ส่วนนั้นก็คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับควันธูปอีกหลาย ๆ งานวิจัย ก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงลบของควันธูปเหล่านี้ต่อสุขภาพ โดยส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ จากการที่ควันของพวกมันประกอบไปด้วยฝุ่นละอองและแก๊ส
1. ฝุ่นละออง (Particulate matter, PM) ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถหลุดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งหากเป็นอนุภาคของฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 10 ไมโครเมตร ขนาดนั้นใหญ่เกินกว่าจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อนุภาคนี้จึงไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ในทันที ขณะที่ PM10 หรืออนุภาคของฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-10 ไมโครเมตร เมื่อสูดเข้าไปมาก ๆ จะสามารถสะสมในระบบทางเดินหายใจได้ และ PM2.5 หรืออนุภาคของฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจในระดับถุงลมได้ ดังนั้น การสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จึงนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพได้เลยทีเดียว
2. แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไม้ ธูป บุหรี่ และถ่านหิน หากสูดดมแก๊สชนิดนี้เข้าไปในปริมาณน้อย ๆ อาจนำไปสู่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนแรง และคลื่นไส้ได้
3. แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) หากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย จะลดประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลง มีผลกระทบต่อการทำงานของปอด หรือสร้างความระคายเคืองต่อปอด กระตุ้นอาการในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
4. สารระเหยประเภทอินทรีย์ (VOCs) สารชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีจุดเดือดต่ำ ดังนั้น มันจึงระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง เช่น เบนซิน โทลูอีน และไซลีน ซึ่งหากสัมผัสกับสารระเหยเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตา จมูก คอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืดได้ แต่หากมีการสัมผัสเป็นระยะเวลานาน จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง หรือสร้างความเสียหายให้กับระบบประสาทส่วนกลางได้
5. สารฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสารประกอบแอลดีไฮด์ชนิดหนึ่ง ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง ทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งเยื่อบุจมูกด้วย นอกจากนี้ยังอาจสร้างความแสบร้อน ทำให้หลอดลมหดตัว เกิดการสำลักและไอได้
6. โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่งซึ่งพบในควันที่ปล่อยออกมาจากการจุดธูป หากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย สามารถสะสมและเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งได้
นอกจากผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพที่กล่าวมาแล้ว ควันธูปยังนำไปสู่ภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ ปอดอักเสบ การเกิดเนื้องอก การกลายพันธุ์ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาไปเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ฝุ่นละออง PM 2.5