แม้ว่าการตดหรือผายลมจะเป็นเรื่องธรรมชาติ และทุกคนย่อมเคยมีประะสบการณ์นี้ แต่ส่วนใหญ่ก็หลีกเลี่ยงที่จะปล่อยมันออกมาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งก็คือ การกลั้นตดนั่นเอง
ในความเป็นจริงตดซึ่งเป็นแก๊สหรือลมที่ปล่อยออกมาจากร่างกายของเรานี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวัน โดยจุลินทรีย์และแบคทีเรียในลำไส้ นอกจากนี้ยังอาจมาจากแก๊สส่วนเกินที่เกิดขึ้นขณะที่เรากลืนอาหาร เคี้ยวอาหาร ดื่มเครื่องดื่มบางประเภท สูบบุหรี่ หรือหายใจทางปากได้ด้วย ทั้งนี้ สถาบันโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และโรคไตแห่งชาติ (The National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases) ในสหรัฐอเมริกา ได้ระบุรายการอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสาเหตุของแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว ธัญพืช และยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางประเภท
ทั้งชายและหญิงสามารถจะตดได้มากถึง 20 ครั้งในแต่ละวัน โดยไม่ต้องมาพร้อมกับเสียงหรือกลิ่น ซึ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ของลมที่ปล่อยออกมา ก็คือ แก๊สไนโตรเจน อีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือ แก๊สไฮโดรเจน และส่วนที่เหลือ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และออกซิเจน แต่ปัจจัยที่ทำให้ตดมีกลิ่นเหม็นก็คือ กำมะถัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของตดที่ปล่อยออกมาเท่านั้น
เมื่อทราบที่มาแล้วก็คงพอจะกล่าวได้ว่า ตด ไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัยที่จะเก็บเอาไว้ในร่างกายของเรา และเมื่อเรากลั้นตด แก๊สเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไป ร่างกายจึงพยายามจะหาทางกำจัดมันออกไปในทางอื่นแทน เช่น ผ่านปากโดยการเรอ หรือซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วขับออกทางลมหายใจแทน
อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะกักตดไว้ในร่างกาย ย่อมทำให้เกิดแรงดันจากแก๊สขึ้น อย่างน้อยก็ก่อนที่ร่างกายจะหาทางกำจัดแก๊สเหล่านี้ออกไปจนได้ แรงดันที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกลั้นตดและสะสมแก๊สไว้ในลำไส้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายท้อง กระเพาะอาหารหดเกร็ง หรือท้องอืด แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการกลั้นตด นอกจากอาการปวดท้อง แน่นท้องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก็แนะนำว่า ไม่ควรกลั้นตดหากอยู่ในที่ส่วนตัวซึ่งสามารถปล่อยมันออกมาได้อย่างไม่ต้องอายหรือเกรงใจใคร