Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ริสแบนด์ ‘จับใจ’ ตัวช่วยเพื่อผู้สูงอายุ

Posted By Plook Magazine | 20 ก.พ. 62
8,466 Views

  Favorite

เจ๋งสุด ๆ กับผลงานการออกแบบนวัตกรรมด้านสุขภาพที่น่าจับตามอง อย่างริสแบนด์จับใจ ที่สามารถตรวจจับชีพจรผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจ หากเกิดความผิดปกติก็จะสามารถช่วยเหลือได้ทัน แนวคิดดี ๆ นี้มาจากความคิดของธนพจน์ ญาสมุทร นักศึกษาปีที่ 2 สาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต

 

 

ริสแบนด์ ‘จับใจ’ ตัวช่วยเพื่อผู้สูงอายุ

 

ปิ๊งไอเดีย

จุดเริ่มต้นคืออาจารย์ให้โจทย์มาคิดว่าจะทำสตาร์ทอัพเรื่องอะไร ผมก็พยายามคิดถึงปัญหาที่มีอยู่ในบ้านเรา แล้วก็พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเป็นโรคหัวใจ และมักจะอยู่บ้านคนเดียวในช่วงเวลาที่ลูกหลานออกไปทำงานหรือเรียน ผมเลยคิดว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ใครจะช่วยพวกเขา ตอนนั้นผมเหลือบไปเห็นริสแบนด์ที่ข้อมือพอดี เลยปิ๊งไอเดียได้ว่าน่าจะเอาเซ็นเซอร์จับชีพจรมาใส่ในริสแบนด์ ถ้าโรคหัวใจกำเริบหรือเสี่ยงเป็นลมก็จะได้รับการช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งผมได้ชักชวนรุ่นพี่อีก 2 คนที่เจอกันบ่อย ๆ ในห้องปฏิบัติการมาช่วยทำด้วยครับ

 

เจ๋งจนได้ทุน

ริสแบนด์นี้สามารถจับชีพจรและความดันโลหิตได้ มีปุ่ม SOS และ Voice message ถ้าเกิดอะไรขึ้นแค่กดปุ่ม SOS เครื่องก็จะโทรออกไปยัง 5 เบอร์ที่ตั้งค่าไว้ และจะโทรจนกว่าจะมีคนรับสาย ส่วนการทำงานของริสแบนด์คือ จะคอยตรวจจับชีพจร โดยจะส่งข้อมูลชีพจรผ่านบลูทูธที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน หากเกิดความผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนไปที่แอปของญาติเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันที ความภูมิใจคือ ได้ไปประกวดที่งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วได้รางวัลนวัตกรรมดี ได้ทุนสนับสนุนจาก ทรู อินคิวบ์ มาพัฒนาโปรเจกต์ต่อครับ หลังจากเวทีนั้นก็ได้ไปประกวดเวที Startup Thailand 2017 อีก พอลงเวทีมาก็มีคนแนะนำให้ไปจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสิทธิและไอเดียของตัวเอง นอกจากนี้ทางโรงพยาบาล 2-3 แห่ง ก็ได้ติดต่อมาเพื่อขอซื้อไปใช้กับผู้ป่วยด้วยครับ

 

 

การทำงานของริสแบนด์ ‘จับใจ’ ตัวช่วยเพื่อผู้สูงอายุ

 

รีบคว้าไว้ทุกโอกาส

นี่คือ 3 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำริสแบนด์ครับ หนึ่งคือได้เรียนรู้เรื่องการทำการตลาด ทำให้ได้รู้ว่าการทำการตลาดนั้นสำคัญมาก สองคือได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมแบบล้ำหน้าเพื่อน ๆ ในชั้นเดียวกัน และสามคือได้นำความรู้ ความสามารถมาประยุกต์ใช้ ทำให้ไอเดียที่คิดเป็นจริงได้ สำหรับใครที่กำลังอยากลงมือทำอะไร ผมขอแนะนำว่าถ้ามีโอกาสเข้ามาให้รีบคว้าไว้ ก่อนที่มันจะหลุดลอยไป เพราะโอกาสมันไม่ได้เข้ามาหาเราง่าย ๆ นะครับ

 

 

ธนพจน์ ญาสมุทร (ขวาสุด) กับเพื่อนร่วมทีม และอาจารย์ที่ปรึกษา (ซ้ายสุด)

 

 

เรื่อง : นพนก
ภาพ : ธนพจน์ ญาสมุทร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow