Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กฎ 4 : 40 เลือกคณะแบบหยิบอนาคต มากำหนดปัจจุบัน

Posted By Plook TCAS | 23 ม.ค. 62
6,502 Views

  Favorite

กฎ 4 : 40 เลือกคณะแบบหยิบอนาคต มากำหนดปัจจุบัน

 

          การเลือกคณะเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวัยรุ่น เป็นความท้าทายที่เปราะบาง เป็นการแข่งขันที่ใช้ความฝันเป็นอุปกรณ์ สำหรับน้องคนไหนที่รู้ตัวตนชัดเจน เรื่องการเลือกคณะอาจเป็นปัญหาแค่คะแนนกับคณะสอดคล้องกันหรือไม่ แต่ถ้าใครไม่รู้จักตัวตน นอกจากจะกังวลกับคะแนนแล้ว ยังต้องพะวงอีกว่าจะนำคะแนนไปเข้าคณะไหนดี

          วันนี้พี่นัทจึงมีกฎที่จะช่วยให้การเลือกคณะง่ายขึ้น เป็นการล้อมคอกก่อนวัวหาย ไม่ใช่วัวหายแล้วมาก่ายหน้าผากเครียดกับการหาวิธีล้อมคอก แต่วัยรุ่นเกลียดกฎ ไม่เอา ๆ ออกไป ๆ ใจร่ม ๆ ก่อนค่ะ กฎนี้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ไม่ซ่อนเงื่อน เราเรียกมันว่า  กฎ 4 : 40  (เรียน 4 ปี ทำงาน 40 ปี)  

 

นิยามศัพท์ 4 : 40

ไหน ๆ ตั้งว่าเป็นกฎแล้ว ก็ขอให้ดูเป็นทางการเพื่อจะได้ดูเท่ ๆ ขึ้นมาหน่อย มาดูนิยามหรือความหมายกันก่อนว่าตัวเลขแต่ละตัวคืออะไร 

เลขนี้ใช้แทนจำนวนปีที่เรียนในมหาวิทยาลัย ใครจะเรียน 5, 6 หรือจัดเต็มไป 8 ปี ก็ใช้เลขนี้แทนในความคิดไปก่อน

40 เลขนี้ใช้แทนจำนวนปีในการทำงาน บางคนอาจแค่ใช้ชีวิตทำงาน บางคุณทุ่มเทชีวิต บางคนหนักถึงขั้นอุทิศชีวิตเพื่อการทำงานจนล้มป่วย หรือเสียสมดุลในชีวิตด้านอื่น ๆ ก็มี

 

ความจำเป็นของกฎ

          เด็กไทยมักจะเริ่มต้นวางแผนการเรียนด้วยการเปิดจินตนาการวาดภาพแค่ 4 ปี ในมหาวิทยาลัย ฉันอยากเรียนคณะนี้ อยากติดคณะนั้น แต่ไม่สนใจที่จะถามตนเองว่า อีก 40 ปี หลังจากเรียนจบเราจะทำงานอะไร จะใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้นไปกับอาชีพอะไร

          ดังนั้น กฏ 4 : 40 มีไว้เพื่อเตือนสติน้อง ๆ ว่า ควรเปลี่ยนมุมกลับ ปรับมุมมอง เปลี่ยนจากการมองเวลาสั้น ๆ ในมหาวิทยาลัย มาเป็นเวลายาว ๆ ในการทำงาน โดยตั้งคำถามว่า เราจะใช้เวลาหลายสิบปีไปกับอะไร ที่เราอยู่กับมันได้อย่าง "อดทน" ไม่ใช่ "จำทน" เราเรียนวิชานี้แค่ 1 เทอม ต้องอาเจียนสลับท้องเสียเป็นระยะ แล้วถ้าต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันอีกหลายสิบปี ไม่ต้องท้องร่วงอาหารเป็นพิษตลอดเวลาหรือ

 

ข้อปฏิบัติตามกฎ

1. ปักหมุด Start ความคิดจาก 40 ปี แห่งการทำงานก่อน ออกแบบ วาดภาพ วางแผน แล้วค่อยย้อนกลับมาไล่หาคำตอบว่า 4 ปี ควรเรียนอะไร เช่น อยากใช้ชีวิต 40 ปี กับการเป็นครู ก็ย้อนกลับมาว่า เราต้องเรียน 4 ปี จากคณะครุศาสตร์ อยากใช้ชีวิต 40 ปี เป็นวิศวกร ก็ย้อนกลับมาว่า เราต้องสอบเข้าเรียน 4 ปี ในคณะวิศวกรรมศาสตร์

2. ตั้งสมมติฐานว่าอาชีพอะไรบ้างที่เราสนใจ และสามารถใช้เวลาอยู่กับมันได้นาน เพราะการทำงานคือ Long Term ไม่ใช่ Short Term แบบการเรียน  

3. ทดสอบสมมติฐานว่าเราสามารถใช้เวลา 40 ปี ไปกับงานอะไรได้บ้าง แล้วถ้าไม่ใช่จะเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง อาชีพสายตรง สายอ้อม อาชีพเทียบเคียง หรือใกล้เคียงกันมีอะไรบ้าง

4. เมื่อได้คำตอบของตัวเลข 40 แล้ว ค่อยวางแผนว่า เราจะใช้ตัวเลข 4 ไปกับคณะอะไร คณะนั้นเปิดรับรอบใดบ้าง แต่ละรอบมีองค์ประกอบการรับอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนการสอบเข้าได้อย่างเหมาะสม

5. ปฏิบัติตามแผนเพื่อพิชิตคณะที่เป็นคำตอบของตัวเลข 4 (คณะในฝัน) เพื่อมุ่งเป้าหมายไปสู่คำตอบของตัวเลข 40 (อาชีพในฝัน) 

 

วิธีการหาคำตอบของตัวเลข 40

1. สังเกต  เมื่อเราได้สมมติฐานอาชีพในฝันออกมาแล้ว เริ่มสร้างโอกาสให้ตนเองได้เข้าไปใกล้อาชีพนั้น หากลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพนั้น ไปสังเกตดูใกล้ ๆ แล้วลองจินตนาการว่า ถ้าสลับตำแหน่งกับกลุ่มตัวอย่างคนนั้น ถ้าเป็นเราทำแบบเขา อยู่แบบเขา ใช่เราหรือไม่

2. หาค่าย กิจกรรม ที่ใกล้เคียงกับอาชีพนั้น พาตนเองไปทดสอบแล้วถามใจเราว่า ความสุข ความตื่นเต้น ความท้าทาย ความกระหายมันวิ่งไปที่หัวใจเราหรือไม่

3. หาข้อมูลเส้นทางอาชีพ บริษัทรองรับ เรียนรู้ตลาดงานในปัจจุบันแล้วหาบทวิเคราะห์ไปถึงอนาคต น้อง ๆ ต้องเข้าใจอย่างหนี่งว่า โลกในวันนี้หมุนเร็วมาก คณะที่เคยขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดอาจจะพลิกกลับได้ในชั่วข้ามคืน การเกาะติดเทรนด์จึงไม่ใช่ความแน่นอนในการวางแผนชีวิตในยุคนี้อย่างเดียว การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่างหากคือคำตอบร่วม

4. เมื่อได้คำตอบของตัวเลข 40 แล้ว ค่อยวางแผนหาคำตอบให้ตัวเลข 4 ซึ่งก็คือการวางแผนสอบติดคณะในฝันนั่นเอง  

 

          น้อง ๆ เชื่อเถอะว่าความฟินจากการสอบติดอยู่กับเราได้ไม่กี่เดือนหรอก ความภูมิใจที่สอบติดยิ่งใหญ่มากก็จริง แต่คงอันตรายไม่น้อย ถ้าผลของมันคือการส่งน้อง ๆ ไปทำงานในสิ่งที่ตนเองต้องทุกข์ไปอีก 40 ปี จริงอยู่ว่าในชีวิตการทำงานถ้าเราไม่ชอบ ก็ลาออกหางานใหม่ได้ เป็นเจ้าของธุรกิจเองก็ได้ มีทางเลือกให้เดินอีกมากมายที่ไม่ได้จำกัดแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่คงเสียเวลาไม่ใช่น้อย ถ้าในขณะที่คนอื่นเดินลุยไปข้างหน้าอย่างชัดเจนในเป้าหมาย แต่เรากลับเดินวกไปวนมา ทางนี้ก็ไม่ใช่ ทางนั้นก็ไม่ชอบ ทางโน้นก็ไม่รอด ทางไหนไปไงดี รู้ตัวอีกที คนในวัยเดียวกับเราไปไกลถึงไหนแล้ว

 

มองให้ไกลแล้ววกกลับมาใกล้ หรือจะมองแค่ใกล้ ๆ แล้วมองการณ์ไกลไม่เป็น

คุณต้องเลือกตั้งแต่วันนี้! 

อนาคตไม่ใช่มีไว้แค่มองหา แต่ต้อง...มองให้เห็น ออกแบบให้เป็น และตกแต่งให้ได้

 

พี่นัท นัททยา

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow