ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่ามนุษย์เราเริ่มใช้คานในการผ่อนแรงมานานเท่าไรแล้ว เรารู้แค่เพียงว่าในปัจจุบันเราก็ยังคงอาศัยเครื่องทุ่นแรงชนิดนี้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เพียงแต่บางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังใช้เทคโนโลยีนี้อยู่ โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดมีเพียงแค่บันทึกของ อาร์คิมีดีส นักคณิตศาสตร์ ชาวอียิปต์ ที่กล่าวถึงหลักการทำงานของคานไว้เพียงสั้น ๆ คือ “Give me the place to stand, and I shall move the earth” ซึ่งเป็นหลักการของคานที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่ถูกบันทึกเอาไว้
คาน อาศัยหลักการของโมเมนต์ นั่นคือ เมื่อมีวัตถุที่เป็นของแข็งและจุดหมุนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนคาน การออกแรง ณ จุดที่ห่างจากจุดหมุน จะเป็นการเพิ่มปริมาณของโมเมนต์ โดยมีมุมระหว่างแรงกระทำกับระยะห่างจากจุดหมุนเป็นอีกปัจจัยด้วย นั่นคือ โมเมนต์จะมากที่สุดเมื่อแรงกระทำตั้งฉากกับระยะห่าง ตามสมการ
M=F×Rsinθ
โดยที่ M คือ โมเมนต์ ของการหมุน มีหน่วย นิวตันเมตร (N∙m)
F คือ แรงกระทำมีหน่วยเป็นนิวตัน (N)
R คือ ระยะห่างระหว่างแรงกระทำกับจุดหมุน มีหน่วยเป็นเมตร (m)
θ คือ มุมระหว่างแรงกระทำกับระยะห่างจากจุดหมุน
จากความรู้เกี่ยวกับโมเมนต์หรือคานนี้ ถูกนำไปประยุกต์ในการทำงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะการนำคานไปใช้กับเรื่องของการดีดหรือการงัด โดยอาศัยการเกิดโมเมนต์ของแรงคู่ควบในการหมุน ทำให้การออกแรงกับคาน แล้วจะเกิดแรงในการต้านการหมุนขึ้น เป็นแรงควบคู่กัน เรียกโดยง่าย ๆ ว่า แรงพยายาม กับแรงต้าน ซึ่งจะเกิดขึ้นในทิศตรงข้ามกันคือ ตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาเสมอ ดังแผนภาพต่อไปนี้
นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งคานตามระบบที่คานทำงานอย่างคร่าว ๆ ออกเป็น 3 ระบบ หรือโดยทั่วไปอาจเรียกว่า คาน 3 อันดับ คือ
คานอันดับ 1 คือ คานที่มีจุดหมุนอยู่ระหว่าง แรงพยายามและแรงต้าน
ตัวอย่างของเครื่องใช้ที่อาศัยหลักการของคานอันดับ 1 เช่น กรรไกร ไม้พาย กรรไกรตัดเล็บ คีมตัดลวด
คานอันดับ 2 คือ คานที่มีแรงต้านอยู่ระหว่าง แรงพยายามและจุดหมุน
ตัวอย่างของเครื่องใช้ที่อาศัยหลักการของคานอันดับ 2 เช่น รถเข็น ที่เปิดขวดแบบฝาจีบ
คานอันดับ 3 คือ คานที่มีแรงพยายามอยู่ระหว่าง แรงต้านและจุดหมุน
ตัวอย่างของเครื่องใช้ที่อาศัยหลักการของคานอันดับ 3 เช่น การคีบตะเกียบ คีมคีบน้ำแข็ง