โดยทั่วไป ฝุ่นละอองที่อยู่ในบรรยากาศมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่ฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ หลังจากกระจายอยู่ในบรรยากาศแล้ว พวกมันจะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลกในเวลาไม่นาน หรืออาจถูกฝนชำระล้างได้ ขณะที่ฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า สามารถลอยค้างอยู่ในบรรยากาศได้เป็นเวลานาน อีกทั้งยังสามารถลอยไปจากจุดที่มันอยู่ได้เป็นระยะทางไกลอีกด้วย ซึ่งผลจากการที่พวกมันอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน จึงอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและลักษณะของอนุภาคจากกระบวนการทางเคมีกายภาพ
ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้หรือ Particulate Matter (PM) เป็นส่วนผสมของของแข็งและหยดน้ำที่ลอยอยู่ในบรรยากาศ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าหรือเท่ากับ 10 ไมโครเมตรหรือไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมคนที่มีขนาด 50-70 ไมโครเมตรในแต่ละเส้น พวกมันสามารถเข้าไปอยู่ในปอดและเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพได้ แบ่งเป็น
- ฝุ่นละอองอนุภาคหยาบ (Coarse dust particles, PM10) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-10 ไมโครเมตร เกิดจากการก่อสร้างถนน หรือฝุ่นละอองจากยานพาหนะบนถนน
- ฝุ่นละอองอนุภาคละเอียด (Fine particles, PM2.5) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมโครเมตร ฝุ่นละอองอนุภาคละเอียดนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมองเห็นได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น โดยเกิดจากการเผาไหม้ทุกประเภท รวมถึงยานพาหนะ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้หรือประกอบอาหารจากที่อยู่อาศัย ไฟป่า การเผาไหม้ทางการเกษตร
ฝุ่นละอองจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดได้ง่าย รวมถึงผู้สูงอายุและเด็กด้วย อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพปกติ หากสัมผัสกับฝุ่นละอองอนุภาคละเอียดในปริมาณมาก และเป็นเวลานาน ก็อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน เช่น การระคายเคืองตา จมูก คอ มีอาการไอ หายใจไม่สะดวก หายใจได้ไม่เต็มปอด หัวใจเต้นเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยระดับปริมาณฝุ่นละอองมีผลต่อสุขภาพต่าง ๆ กัน ดังนี้
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 0-12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 0-50
มีผลต่อสุขภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 12.1-35.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 21-100
เป็นปริมาณฝุ่นละอองในระดับปานกลาง ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้หรือเคยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งในกลุ่มนี้ควรงดการออกแรงมาก ๆ หรือวิ่งกลางแจ้ง
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 35.5-55.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 101-150
เป็นระดับของฝุ่นละอองที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในกลุ่มของผู้ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอาจได้รับการกระตุ้นเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจหรือปอด และผู้สูงอายุด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้ควรงดการออกแรงมาก ๆ หรือวิ่งกลางแจ้ง
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 55.5-150.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 151-200
ไม่ดีต่อสุขภาพ และมีผลกระตุ้นอาการในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอด ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการหายใจของคนทั่วไปด้วย หากค่าของฝุ่นละอองอยู่ในระดับนี้ ควรงดการอยู่กลางแจ้งหรือออกแรงเป็นเวลานาน
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 150.5-250.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 201-300
เป็นระดับฝุ่นละอองที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก มีผลกระตุ้นอาการในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอด ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการหายใจของคนทั่วไปด้วย หากค่าของฝุ่นละอองอยู่ในระดับนี้ ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการออกแรงเป็นเวลานาน
ปริมาณ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ระดับ 250.5-500.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร AQI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) 301-500
อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย และมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอด ผู้สูงอายุ รวมถึงมีผลต่อการหายใจของคนทั่วไปอย่างมาก ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง และอยู่ในอาคารหรือบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับฝุ่นละอองน้อยที่สุด
ทั้งนี้ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในบรรยากาศโดยทั่วไปของประเทศไทย ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละออง PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 50 ไมโครเมตรต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยของฝุ่นละออง PM10 ในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 0.12 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 120 ไมโครเมตรต่อลูกบาศก์เมตร
วิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ที่ดูจะเซฟ ๆ ที่สุดน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง โดยอยู่ในตัวอาคารที่ปิดมิดชิดเท่าที่จะทำได้ และอาจเปิดเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ และหากจำเป็นต้องออกสู่กลางแจ้ง ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยที่ระบุว่าป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้หรือ N95 ซึ่งต้องสวมใส่อย่างถูกต้องโดยให้หน้ากากอนามัยแนบกับผิวหน้าให้สนิท ไม่มีช่องว่างที่ฝุ่นละอองจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ และควรตรวจสอบระดับฝุ่นละอองในพื้นที่ที่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การร่วมมือเพื่อช่วยกันลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศยังเป็นสิ่งเราทุกคนควรทำด้วย โดยการลดการใช้พลังงานต่าง ๆ ภายในครัวเรือน เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าและแหล่งพลังงานอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นที่มาของมลภาวะทั้งสิ้น การลดการใช้พลังงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นได้ รวมถึงการเลือกใช้บริการรถสาธารณะ เพื่อลดฝุ่นละอองที่เกิดจากยานพาหนะ และงดการเผาเศษไม้ เศษหญ้า หรือขยะ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เเช่นกัน