Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ควรจะซิ่วดีไหม ?

Posted By Plook TCAS | 15 ม.ค. 62
4,849 Views

  Favorite

โอละพ่อ ! วางแผนไว้ซะดิบดีและมั่นใจมาตลอดว่าคณะและสาขาที่เลือกเรียนใช่สำหรับตัวเองที่สุดแล้ว แต่พอเรียนไปสักพักเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่สำหรับตัวเองเอาซะเลย เรียนก็ไม่เข้าใจ ไม่มีกำลังใจ อ่านหนังสือ ติวกับเพื่อน ๆ ก็ไม่เก็ท สอบกี่ครั้ง ๆ คะแนนก็ได้น้อยมาก “ควรจะซิ่วดีไหม?” คำถามนี้คง เกิดขึ้นกับน้อง ๆ หลายคน การตัดสินใจครั้งนี้สำคัญไม่น้อยเลย ถ้านั้นก่อนตัดสินใจเรามาดูกันก่อนดีว่า ควรทำอย่างไรดีกับคำถามและความกังวลใจเหล่านี้

 

เรียนไม่ได้หรือยังขยันไม่พอ

 

ก่อนที่จะตัดสินใจซิ่ว สิ่งแรกที่น้อง ๆ ต้องทำคือตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่า สาเหตุที่เรียนไม่ได้เป็นเพราะสิ่งนั้นไม่ใช่สำหรับเราจริง ๆ หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพราะเราขยันไม่พอกันแน่ เพราะถ้า น้อง ๆ ตัดสินใจซิ่วไปเรียนคณะหรือสาขาอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบว่าคณะ/สาขาที่เคยเรียนอยู่แล้วก่อนหน้านี้ใช่สำหรับตัวเองอยู่แล้วจะเสียเวลาไปกันใหญ่และหมดไฟกันไปซะก่อน ฉะนั้น ตอนนี้ต้อง ให้เวลากับตัวเองเพื่อคิดหาคำตอบนี้ให้ได้ เพราะการซิ่วเป็นการตัดสินใจและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับวัยเรียนอย่างเรา
 

ชั่งน้ำหนักความสุขในการเรียน/การใช้ชีวิต
 

การเรียนอย่างมีความสุขและสนุกกับการใช้ชีวิตคงเป็นสิ่งที่เด็กมหา’ลัยหลายคนต้องการ น้อง ๆ ที่กำลังตัดสินที่จะซิ่วพี่อยากให้ชั่งน้ำหนักดูว่าเรามีความสุขแค่ไหนกับการเรียนในตอนนี้และที่ผ่านมา แม้ว่าบางวิชาที่น้อง ๆ เรียนอาจจะยาก จนบางทีก็ท้อ อยากถอยไปไกล ๆ แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นสิ่งที่น้อง ๆ รักและเลือกแล้ว จะยอมแพ้ไปดื้อ ๆ ได้ไง กว่าที่จะฝ่าด้านต่าง ๆ จนได้มานั่งเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบไม่ใช่ เรื่องง่าย ถ้าพบว่าความสุขที่เกิดขึ้นมากกว่าก็อยากให้น้อง ๆ เรียนต่อไปด้วยความมุ่งมั่นและอดทน แต่หากผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกันข้ามก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่น้อง ๆ จะซิ่วเพื่อเรียนใหม่ โอกาสในชีวิตมีอยู่เสมอ อย่ายอมแพ้ไปง่าย ๆ ซะก่อน

 

ซิ่วแล้ววางแผนการเรียนครั้งใหม่ให้ชัดเจน
 

ถ้าตัดสินใจแล้ว 100% ว่ายังไงก็จะซิ่วแน่นอน น้อง ๆ อย่าลืมที่จะวางแผนอนาคตหลังจากนี้ ว่าจะเข้าเรียนสาขาไหน คณะอะไร การสอบเข้าต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเท่าไหร่ ต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะเวลาไม่เคยรอใคร อย่าปล่อยให้เวลา 1 ปี ก่อนที่จะถึงวันนั้นหมดไปโดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะผลที่ตามมาคงไม่ได้สวยงามตามที่ตั้งเป้าไว้แน่ ๆ
 

อย่าลืมเติมความรู้และประสบการณ์ชีวิต
 

น้อง ๆ ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอแม้จะซิ่วออกไปแล้ว ระยะเวลา 1 ปีหลังจากวันที่ซิ่ว เราต้องทำอะไรบ้าง เช่น เตรียมตัวอ่านหนังสือ, ศึกษาหลักเกณฑ์การศึกษาต่อในคณะ/สาขาที่อยากเข้าเรียน, ทำงานฝึกประสบการณ์ชีวิต, เก็บเงินเป็นทุนการศึกษา และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็นในอนาคต เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่น้อง ๆ ต้องคำนึงถึงและวางแผนให้ชัดเจน เพราะหากซิ่วออกมาโดยไม่มีแผนการใช้ชีวิตเป้าหมายที่น้อง ๆ วางไว้คงไม่ง่ายนักที่จะประสบผลสำเร็จ

 

5 สัญญาณบ่งบอกว่าควรซิ่ว

 

1. ไม่มีกำลังใจและแรงบันดาลใจในการเรียน

2. เข้ากับเพื่อนในคณะ/สาขาที่เรียนไม่ได้/มักปลีกตัวอยู่คนเดียว

3. เกรดไม่ถึงเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด/สอบตกบ่อยครั้ง

4. ให้ความสำคัญกับอีกสิ่งหนึ่งมากกว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนอยู่

5. ไม่เข้าเรียน เพราะเรียนไปก็ไม่มีความสุข

 

“ซิ่ว” หรือ “ไม่ซิ่ว” ต้องใช้เวลาในการคิด ทบทวน และไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะนั่นเท่ากับว่าน้อง ๆ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ถ้ารู้สึกว่าตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ก็ควรปรึกษาพ่อแม่ ครู อาจารย์ รวมถึงเพื่อน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด หากใครที่ตัดสินใจซิ่วไปแล้วก็อย่าลืมที่จะขยันเรียนและมุ่งมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเลือกให้ดีที่สุด เพราะมีโอกาสไม่บ่อยนักที่เราจะได้ทำสิ่งที่รัก หากสิ่งนั้นอยู่ในมือก็อย่าปล่อยให้หลุดลอยไปโดยง่าย

 

ภานุวัฒน์ มานพ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow