โดยท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ถึง ในหนังสือ "เล่าไว้ในวัยสนธยา" ในบทสนทนาดังนี้
อ๋อ กุฏิที่อยู่หัวเรือ สร้างสำหรับแขกพิเศษ พระผู้ใหญ่ เป็นต้น ปรารภเรื่องอาจารย์ชา อาจารย์ชาเคยตั้งใจจะมาเยี่ยมที่นี่ ก็ทำกุฏิไว้ให้ท่านพัก แต่ท่านล้มป่วยเสียก่อน จนเดี๋ยวนี้ก็คงหมดหวังแล้วว่าจะมาได้ ก็เลยเรียกกุฏิอาจารย์ชามาตัง้แต่นั้น เพื่อเป็นที่ระลึก ไว้ใช้เป็นที่พักของแขกพิเศษต่อไป
- - - -
พระวัดหนองป่าพงของหลวงพ่อชา กับพระวัดสวนโมกข์ของหลวงพ่อพุทธทาส พระทั้งสองสำนักนี้ได้ไปมาหาสู่สนิทสนมกันดีเหมือนเป็นสำนักเดียวกัน จนดูเผินๆ จะสนิทสนมกับสวนโมกข์มากกว่าวัดอื่น ๆ ในสายพระป่าของพระอาจารย์มั่นเสียอีก
อดีตพระเลขาหลวงพ่อชา ได้เล่าถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองสำนักนี้ว่า...
เดิมทีเดียวมีคนนำเทปธรรมะหลวงพ่อพุทธทาสเรื่อง "สุญญตาปริทัศน์" มาให้หลวงพ่อชาฟัง ซึ่งเวลานั้นหลวงพ่อชาท่านอายุมากพอสมควรจนเป็นพระอาจารย์ใหญ่แล้ว
ท่านฟังแล้วก็ชอบอกชอบใจมาก รับรองว่านี่แหละธรรมะที่ถูกต้อง และท่านก็ชอบฟังซ้ำเกือบทุกคืนก่อนนอน
ท่านชมว่า
"ท่านพุทธทาสเทศน์ได้ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และสุดท้าย นุ่มนวลไพเราะจับใจ น้ำเสียงสงบถึงใจดีนัก"
พระเลขาจึงได้เตรียมเทปให้ท่านฟังตอนกลางคืนแทบทุกคืนเพราะท่านชอบมาก ๆ
ด้วยกิตติศัพท์นี้ จึงทำให้พระที่หนองป่าพงชักชวนกันเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อพุทธทาสและนับแต่นั้นมา ศิษย์สองสำนักนี้ก็สนิทสนมกันจนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ส่วนหลวงพ่อพุทธทาสก็นิยมชมชื่นในธรรมะของหลวงพ่อชาไม่แพ้กันทีเดียว
คือท่านมีความเคารนับถือ หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นอย่างยิ่ง และครั้งเมื่อทราบว่าหลวงพ่อชามีความประสงค์จะเดินทางมาสวนโมกข์พบกับท่าน (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่หลวงพ่อชาอายุพรรษามากแล้ว) ท่านพุทธทาสและศิษยานุศิษย์ทางสวนโมกข์ได้จัดเตรียมกุฎิอันเป็นสัปปายะ ไว้ต้อนรับพระอาคันตุกะที่เป็นที่น่าเคารพทั้งโดยวัตรปฏิบัติ ทั้งโดยการเป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสนาธุระเช่นหลวงพ่อชา แต่สุดท้าย หลวงปู่ชาก็ได้อาพาธหนักเสียก่อน ไม่ได้ไปเยือนสวนโมกข์
กุฏิอันเป็นอนุสรณ์แห่งความระลึกถึงกันของท่านพระมหาเถระทั้งสองนั้น กุฏิหลังนี้ในสวนโมกข์ยังคงเรียกว่า "กุฎิหลวงพ่อชา" มาจนปัจจุบันนี้
- - - -