สัตว์บางชนิดอาจจะไม่ได้มีเลือดเป็นสีแดง เช่น แมงมุม แมงดาทะเล หรือสัตว์ขาปล้องบางชนิด พวกมันมีเลือดเป็นสีน้ำเงิน เนื่องจากมีทองแดงหรือคอปเปอร์ (Cu) อยู่ในฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) ในเลือดของพวกมัน โดย Hemocyanin นี้เป็นโปรตีนที่อยู่ในเลือดเช่นเดียวกับ Hemoglobin ซึ่งโปรตีนดังกล่าวทำหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเหมือนในมนุษย์
ขณะที่สัตว์จำพวกปลิงทะเลมีเลือดเป็นสีเหลือง ซึ่งสีเหลืองที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากปริมาณของธาตุวาเนเดียม (Vanadium, V) ที่อยู่ในวานาบิน (Vanabin) หรือโปรตีนที่อยู่ในเลือดนั่นเอง และธาตุดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดสีเหลือง นอกจากนี้ Vanabin ยังมีความแตกต่างจาก Hemoglobin และ Hemocyanin กล่าวคือ Vanabin ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขนส่งออกซิเจนในร่างกาย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปลิงทะเลมี Hemocyanin ในเลือดเพียงพอสำหรับใช้ในการขนส่งออกซิเจน ปัจจุบันหน้าที่ของ Vanabin จึงยังคงเป็นปริศนา บางทีมันอาจจะส่วนหนึ่งของกลไกในการป้องกันตัวเอง โดยส่งผลให้ปลิงทะเลมีลักษณะที่ไม่สวยงาม หรือสารดังกล่าวอาจจะเป็นสารพิษต่อปรสิตและนักล่า แต่อย่างไรก็ตาม ปลิงทะเลมักจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เนื่องจากคุณค่าทางอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ไม่เพียงเท่านี้ หนอนท่อ (Tubeworm) มีเลือดเป็นสีเขียวเนื่องจากโปรตีน Chlorocruorin ในเลือด โดยที่เลือดจะเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อมีปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มเมื่อมีปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดสูง หรือหนอนถั่ว (Peanut worm) มีเลือดเป็นสีม่วงเนื่องจากโปรตีน Haemorythrin แต่เลือดจะมีสีม่วงก็ต่อเมื่อกำลังขนส่งออกซิเจนเท่านั้น ถ้ามีการถ่ายออกซิเจนไปสู่เซลล์อื่น ๆ แล้วเลือดจะไม่มีสี นอกจากนี้ยังมีปลา Ocellated icefish ที่เลือดไม่มีสี เนื่องจากปลาชนิดนี้ไม่มีโปรตีนที่ใช้ในการขนส่งออกซิเจน แต่พวกมันใช้ของเหลวในเลือดเป็นตัวนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทน