Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือภาคีเครือข่ายพลิกโฉมโรงเรียนประชารัฐในโครงการ CONNEXT ED พัฒนาการศึกษาไทยเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ภายใน 1 ปี

Posted By โครงการทรูปลูกปัญญา | 09 ม.ค. 62
2,955 Views

  Favorite

ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือภาคีเครือข่ายพลิกโฉมโรงเรียนประชารัฐในโครงการ CONNEXT ED

พัฒนาการศึกษาไทยเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ภายใน 1 ปี

 

กว่า 1 ปีที่ธนาคารไทยพาณิชย์เดินหน้าพัฒนาการศึกษาอย่างเข้มข้นร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลและภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน(CONNEXT ED) ระยะที่ 1 จากโรงเรียนประชารัฐเป้าหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารฯ 50 โรงเรียน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถจัดกลุ่มเพื่อการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกเป็น 4 Modules ได้แก่ 1) Whole School ด้วยนวัตกรรมของโรงเรียน  ลำปลายมาศพัฒนา 2) การพัฒนาการเรียนการสอบแบบโครงงานฐานอาชีพ 3) การพัฒนาศักยภาพครู ยกระดับคุณภาพวิชาการ (อนุบาลแบบบ้าน,อ่านออกเขียนได้, บูรณาการ PBL&PLC, โครงงานฐานวิจัย) และ 4) Brain-based Learning (BBL) พัฒนาโรงเรียนด้านการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง ผลการดำเนินงานระยะที่ 1 เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างดี ตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญ ในการสร้างให้เยาวชนสามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาเป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี” ด้วยความร่วมมือของโรงเรียน คุณครู นักเรียน ชุมชนและครอบครัว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะผู้บริหาร นำโดยคุณอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกิจกรรมเพื่อสังคม และสื่อสารภายในองค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย General Services และคุณวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ Dean of SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในจ.สมุทรสงคราม 2 โรงเรียน ซึ่งใช้ Module ต่างกันในการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากมีสภาพของปัญหาที่แตกต่างกัน และถือได้ว่าเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ดำเนินโครงการมา ได้แก่ โรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) และโรงเรียนวัดธรรมสถิติ์วราราม

โรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) โรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพัฒนาการศึกษาโดยใช้ Module: Whole School ด้วยนวัตกรรมของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งเน้น 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ จิตศึกษา พัฒนาการเรียนรู้จากภายใน ฝึกฝนให้มีสมาธิ สติ รู้เท่าทันอารมณ์ เคารพในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นและพัฒนาสังคม การใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ PBL-Problem Based Learning มีการจัดชุดความรู้ เรียนรู้ร่วมกัน คิดเชิงนวัตกรรม ฝึกฝนการแก้ปัญหา ค้นคว้าอิสระ และการพัฒนาครูผ่านชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ PLC-Professional Learning Community สร้างชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการหาแนวทางจัดการเรียนรู้ การจัดการการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมทางการศึกษาที่ผสมผสานการพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ให้มีทักษะในการใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้

ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น คุณครูเปลี่ยนวิธีการสอนจากการบอกสอนเป็น Active Learning เปลี่ยนท่าทีและวิธีในการสอน สื่อสารด้วยเสียงที่นุ่มนวล แสดงออกอย่างใจเย็น เป็นมิตร และฟังนักเรียนมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช ออกแบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับสาระวิชาหลัก ให้นักเรียนสนใจในกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนมีความสุขกับการเรียน เรียนด้วยการลงมือทำ มีความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ได้ในแบบบูรณาการ ผลการเรียนดีขึ้น อยากมาโรงเรียน มีมารยาท นอบน้อม กล้าพูด กล้าตอบ กล้าแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกับคุณครูมากขึ้น ถ่ายทอดเรื่องต่าง ๆ อธิบายได้อย่างเป็นขั้นตอน สรุปความคิดรวมยอดได้ มีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักแบ่งปัน เห็นแก่ส่วนรวม ลดพฤติกรรมก้าวร้าว นอกจากนี้ยังมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ครอบครัว มีความสุข นักเรียนมีการช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน ลดปัญหาการติดเกมและโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ผู้ปกครองยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนด้วย

โรงเรียนวัดธรรมสถิติ์วราราม โรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 พัฒนาโรงเรียนด้านการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง Brain-based Learning (BBL) โดยใช้กุญแจ 5 ดอกพลิกโฉมโรงเรียน ได้แก่ 1) การเรียนรู้การทำงานของสมอง โดยใช้สื่อและนวัตกรรมของการสอน 2) สร้างความพร้อมของเด็ก ให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย เปลี่ยนสนามเด็กเล่น เพื่อพัฒนาสมองและไขสันหลังให้แข็งแกร่ง 3) ปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมครู โดยครูเป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก 4) ใช้ BBL สร้างการเรียนรู้ด้วยใบงาน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง และ 5) ทำความเข้าใจกับคุณพ่อ คุณแม่ บ้าน โรงเรียนให้เป็นแนวทางเดียวกัน ทุกที่คือห้องเรียน

ผลสัมฤทธิ์ทึ่เกิดขึ้น คือ คุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีแบบแผนและมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำสื่อการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักเรียน มีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนเข้าใจเรื่องการปฏิบัติตนในระหว่างการเรียน ทำงานเป็นทีมมากขึ้น ช่วยกันผลิตสื่อการสอนและปรับปรุงห้องเรียน นักเรียนอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น จับใจความ และสื่อสารสิ่งที่เรียนได้ มีทักษะความคิดสามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นในการมาโรงเรียน ส่งการบ้านและงานต่าง ๆ ตรงต่อเวลา และเด็กพิเศษสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนมากขึ้น

ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน งบประมาณไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ของปัญหาทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การจัดกระบวนการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์ของปัญหา ความสำเร็จทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่พร้อมจะเดินไปด้วยกัน มองเห็นในเป้าหมายเดียวกัน ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างจะได้รับการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ผู้อำนวยการ คุณครู นักเรียน ชุมชนและผู้ปกครอง ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นของทั้งสองโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนอื่น ๆ ในโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน(CONNEXT ED) ระยะที่ 1 ที่ธนาคารฯ ได้ดำเนินการมา นับเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางที่ดีและเป็นพลังผลักดันสำคัญให้ธนาคารฯ เดินหน้าโครงการ CONNEXT ED ในระยะที่ 2 โดยขยายไปในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อร่วมวางรากฐานการศึกษาของประเทศให้เข้มแข็ง และพัฒนาอย่างยั่งยืน

*******************************************

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • โครงการทรูปลูกปัญญา
  • 0 Followers
  • Follow