การเกิดพายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm) มีสาเหตุมาจากการที่น้ำในมหาสมุทรได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิของน้ำจึงสูงขึ้น และกลายเป็นไอน้ำจำนวนมากระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ จากนั้นไอน้ำจะเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ และก่อตัวเป็นเมฆ ซึ่งการกลั่นตัวของไอน้ำนี้จะมีการคายความร้อนออกมา เมื่อพลังงานความร้อนในส่วนนี้ประกอบกับแรงโคริออริสที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ก็จะทำให้เกิดเป็นพายุหมุนได้
พายุหมุนที่เกิดขึ้นเหนือมหาสมุทรนี้จะเคลื่อนไปตามแนวความกดอากาศต่ำ ซึ่งมาจากการที่บริเวณเหนือน้ำทะเลนั้นมีอากาศอุ่นและอากาศเคลื่อนที่ลอยตัวสูงขึ้น เมื่อพายุหมุนเคลื่อนที่เหนือน้ำทะเลไปเรื่อย ๆ จะมีกำลังแรงขึ้นจนพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่นที่มีความเร็วลมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด แต่เมื่อพายุเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งแล้ว จะลดกำลังลงเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีไอน้ำในอากาศเสริมแรงของพายุ
โดยทั่วไปแล้วพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทยมักเกิดมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ถึงขั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยกิโลเมตร และหมุนรอบศูนย์กลางในทิศทวนเข็มนาฬิกาสำหรับซีกโลกเหนือ ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณซีกโลกใต้จะหมุนรอบศูนย์กลางในทิศตามเข็มนาฬิกา
พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด ได้แก่
- เฮอร์ริเคน (Hurricane) ใช้เรียกพายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก
- ไต้ฝุ่น (Typhoon) ใช้เรียกพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้
- ไซโคลน (Cyclone) ใช้เรียกพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า แต่เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า วิลลี่-วิลลี่ (Willy-Willy)
ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของประเทศไทย มีการแบ่งเกณฑ์โดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ตามความรุนแรงของพายุตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนี้
- พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต)
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต ) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต)
- พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต ) ขึ้นไป
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งคู่ จึงมีโอกาสที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุทั้งสองแหล่ง แต่มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนจากทางฝั่งตะวันออกหรือด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมากกว่าทางฝั่งตะวันตก โดยพายุจะพัดเข้าสู่ชายฝั่งของประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ลูกต่อปี ซึ่งตามปกติแล้วในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมความกดอากาศสูงจากประเทศจีน จะนำความหนาวเย็นลงมาสู่ทะเล ทำให้ระบบอากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดพายุขึ้นเหนือทะเล จึงเป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การตั้งชื่อพายุ
- ทำไมพายุทอร์นาโดจึงมักเกิดที่สหรัฐอเมริกา
- ประเภทของพายุ
- ชนิดของเมฆ บอกเหตุฝนฟ้าคะนอง