อาการที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับเด็ก ๆ ที่เริ่มเรียนรู้เมื่อถูกขัดใจหรือเมื่อรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ แต่ก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ใช่ไหมล่ะคะ โดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แบบนี้
แล้วจะทำอย่างไรดี ให้พฤติกรรมที่มาตามพัฒนาการนี้ บรรเทาเบาบางลง และไม่พัฒนาไปเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวเด็ก ๆ ไปจนโต วันนี้ครูพิมมีเทคนิคในการพูดหรือปฏิบัติมาฝากกันแล้วค่ะ ซึ่งขอย้ำไว้ก่อนนะคะว่า เทคนิคเหล่านี้ ควรใช้เมื่อเราเริ่มจับสัญญาณได้แล้วว่า ลูกกำลังจะแสดงอาการ Tantrum เพื่อเป็นการระงับก่อนที่จะระเบิดนั่นเองค่ะ
สติคือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับสถานการณ์นี้ค่ะ เมื่อคุณลูกเริ่มจะใจร้อน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบจัดการก่อนเลยก็คือ การทำในสิ่งที่ตรงข้าม นั่นก็คือ พยายามใจเย็นไว้ก่อน นิ่ง ๆ ไว้เป็นดีค่ะ หลาย ๆ ครั้ง เราพยายามที่จะตำหนิเด็ก ยั่วอารมณ์กันไปมา หรืออาจจะรีบตามใจจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเองแต่อย่างใดค่ะ และจะยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำ ๆ อีกด้วย
ข้อนี้เป็นจุดที่หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่ได้สังเกตตัวเองนัก แต่การยืนพูด ชี้สั่ง หรือตะโกนจากที่ไกล ๆ มาถึงตัวเด็ก มักไม่เป็นผลมากนักในการที่จะทำให้เด็กฟังหรือสื่อสารกับเราค่ะ
การพูดกับเด็กในช่วงที่อารมณ์กำลังเหวี่ยง จำเป็นที่จะต้องชัดถ้อยชัดคำ และไม่ยืดยาวจนเกินไปค่ะ เพราะไม่ใช่เวลาที่เด็กจะตั้งใจฟังอะไรจากเรานัก หากเรายืนหยัดว่าไม่ได้ เราก็พูดกับเด็กชัด ๆ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นค่ะ เช่น “อันนี้กินไม่ได้นะครับ” “เราต้องกลับแล้วค่ะ” “ตีแม่แบบนี้ไม่ได้นะครับ” เป็นต้นค่ะ
หลาย ๆ ครั้ง เราเลือกที่จะสอนเด็กในสถานการณ์เหล่านี้ แต่สิ่งที่ครูพิมแนะนำให้ทำมากกว่า คือ การใช้คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจพวกเขาค่ะ เช่น “แม่รู้ว่าลูกยังไม่อยากกลับ หนูกำลังสนุกเลยใช่ไหมลูก” ก่อนที่จะอธิบายเหตุผลอื่น ๆ ตามมา เช่น หมดเวลาแล้ว เราต้องไปแล้ว หรืออื่น ๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น และเรียนรู้ด้านการจัดการอารมณ์ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการด้านเหตุผลไปด้วยในตัวค่ะ
เด็ก ๆ มักจะรู้สึกว่า โลกกำลังจะถล่ม เมื่อต้องหยุดทำสิ่งที่ชอบ ต้องไปจากจุดที่กำลังสนุก หรือตอนที่ไม่ได้ดั่งใจในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเทคนิคการเสนอทางเลือก เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ในการปรับอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้ค่ะ
จริง ๆ ข้อนี้นับเป็นเทคนิคที่ครูพิมใช้ค่อนข้างบ่อยเลยหละ เมื่อเด็ก ๆ เริ่มอาละวาด ครูพิมมักจะใช้การร้องเพลงคลอเบา ๆ พร้อมกับการสัมผัสที่ตัวเขาอย่างเบามือ สองอย่างนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยปลอบประโลมจิตใจเด็กได้อย่างดี และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างดีเลยหละค่ะ (แต่ต้องมั่นใจนิดนึงนะคะว่าเสียงเราพอจะถูกจริตเด็กบ้าง ฮ่า ๆ)
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก