Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพราะเหตุใดของเล่นล้ำ ๆ กลับทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าลง ?

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 28 ธ.ค. 61
3,620 Views

  Favorite

สำหรับพ่อแม่ การมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าการซื้อนั่นซื้อนี่ให้ตัวเองอีกใช่ไหมล่ะคะ และ “ของเล่น” ก็นับได้ว่าเป็นของอย่างหนึ่งที่พ่อแม่มักจะทุ่มเทให้กับลูก ๆ กันอย่างไม่อั้น โดยเฉพาะเมื่อของเล่นนั้น ดูมีความทันสมัย แปลกใหม่ และดูเหมือนจะช่วยส่งเสริมทักษะสำคัญ ๆ ให้กับลูกได้

 

แต่กุมารแพทย์กลับมีความคิดเห็นในมุมมองที่ต่างออกไปค่ะ โดยเฉพาะมุมมองต่อการใช้ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เกมการศึกษาที่ดูดึงดูดใจเด็ก ๆ ด้วยกลไกต่าง ๆ โดยพวกเขาให้ความเห็นว่า ของเล่นที่ดูเหมือนจะล้ำสมัยเหล่านี้ ไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมกับเด็กเลย เมื่อเทียบกับของเล่นรูปแบบเก่า ๆ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์และเกมเสริมทักษะบางประเภท ที่ระบุว่าเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เป็นของเล่นที่ไม่ก่อให้เกิดการมี “ปฏิสัมพันธ์” กับคน รวมทั้งยังมีรูปแบบการเล่นที่ไม่ได้ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายส่วนต่าง ๆ มากนัก

 

ภาพ : Shutterstock

 

จากการรายงานของ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) กล่าวว่า การเล่น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กในทุก ๆ ด้าน แต่การเล่นที่พวกเขาพยายามจะให้ข้อมูลกับสังคมนั้น หมายถึง การเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะการเล่นกับผู้ใหญ่ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งเรื่องภาษา การสื่อสาร การเพิ่มคลังคำศัพท์ที่มากขึ้น ๆ ในแต่ละวัน การได้เรียนรู้ปฏิกิริยาท่าทางของผู้คนในสถานการณ์ต่าง ๆ การได้รับการช่วยเหลือ หรือการสอนในระหว่างการเล่น ทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้จากผลป้อนกลับ (Feedback) ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเล่นนั้น เช่น เล่นแบบนี้แล้วได้รับคำชม เล่นแบบนั้นแล้วโดนดุ เป็นต้น และในระหว่างการเล่นนี้เอง ที่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ๆ ไปในทางที่ดีขึ้นได้

 

ทุกวันนี้ ของเล่นประเภท สมาร์ทโฟน แทบเล็ต และเกมการศึกษาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มักโฆษณาว่าตนเองเป็นสื่อที่ใช้เพื่อการศึกษาและพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะการเน้นจุดขายที่ว่า ทำให้เด็กฉลาดและพร้อมในการเข้าเรียน แต่ความเป็นจริงแล้ว การรู้ตัวเลข ตัวอักษร สี รูปทรง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น ที่แสดงถึงความพร้อมในการไปโรงเรียน แต่สิ่งที่เด็กต้องการการเรียนรู้จริง ๆ ควรจะเป็นเรื่องของการปรับตัว การควบคุมตนเอง การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ การมีความคิดแบบยืดหยุ่น ซึ่งทักษะเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้จากผู้อื่นเท่านั้น และแน่นอนว่า ของเล่นเหล่านี้ ให้สิ่งเหล่านี้กับเด็ก ๆ ไม่ได้

 

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับผู้ปกครองว่า ในการเลือกซื้อของเล่นครั้งต่อไป ว่าอยากให้พิจารณาถึงทักษะที่จำเป็นจริง ๆ ที่เด็กควรได้รับจากการเล่น เช่น ทักษะทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและใหญ่ และทักษะด้านการสื่อสาร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราลงทุนเพื่อลูก ๆ ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความตั้งใจของทุก ๆ ท่านจริง ๆ นั่นเองค่ะ

 

ดัดแปลงและเรียบเรียงจากบทความ  Old-fashioned toys better for kids than video games, pediatricians say จาก www.wthr.com

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow