ในยุคสมัยที่มีเด็กจบใหม่ตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ที่ทำงานดี ๆ เงินเดือนสูง ๆ ย่อมเป็นเป้าหมายของใครหลายคนที่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนเอง “บริษัทข้ามชาติ” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ ที่จะเป็นเวทีแสดงความสามารถของเด็กจบใหม่ ทั้งในแง่ความรู้ความสามารถเฉพาะทางตามที่แต่ละคนได้ร่ำเรียนมาในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาที่เป็นสกิลติดตัวของเด็กจบใหม่ยุค 4.0 แทบทุกคน
หากนึกถึงประเทศที่มีบริษัทข้ามชาติที่ทรงอำนาจทางธุรกิจระดับโลกซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ “จีน” พี่ใหญ่ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติจีนเข้ามาตั้งอยู่มากมาย ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นอนาคตในการเติบโตของธุรกิจจีน เริ่มมองเห็นเส้นทางอาชีพที่จะเติบโตไปกับบริษัทจีน และเริ่มสนใจหาลู่ทางในการทำงานร่วมกับบริษัทจีน
สำหรับธุรกิจจีนที่เข้ามาตั้งอยู่ในไทยก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน ด้านการสื่อสาร การขนส่ง การพัฒนาแอปฯ บนสมาร์ทโฟน บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิตัล เป็นต้น เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีความสามารถในหลากหลายสายงาน แต่การจะมีอนาคตก้าวไกลในการทำงานกับบริษัทจีนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด ๆ ก็ตาม มีหลายปัจจัยและรายละเอียดมากมายที่จะเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จ บทความนี้จะพาไปเจาะลึกเส้นทางการทำงานอันสดใสในบริษัทสัญชาติจีน สิ่งที่ควรรู้และโอกาสที่มากกว่าในเส้นทางดินแดนมังกร ถ่ายทอดผ่านผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียนและการทำงานในจีนอย่างลึกซึ้ง รับรองว่าเป็นเรื่องราวสุดพิเศษไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
นางสาววินิตา สุขเจริญมิตร หรือ ดิว ศิษย์เก่าหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประสบการณ์การทำงานกับบริษัทข้ามชาติจากประเทศจีน บริษัท SF Express ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนแบบครบวงจร ทั้งการเงิน และธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศจีน โดยตำแหน่งที่ดิวทำงานอยู่คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาทางธุรกิจ และการบริหารผลิตภัณฑ์ (Business Solutions and Product Management) ซึ่งดิวมีหน้าที่ดูแลจัดการด้านเส้นทางการขนส่ง การจัดเก็บสินค้า และบริหารจัดการในธุรกิจด้านโลจิสติกส์เป็นหลัก ดิวได้เปิดเผยถึงที่มาของความสนใจเข้าทำงานในบริษัทจีน ไปจนถึงโอกาสในการเติบโตที่มองเห็นกับการทำงานในบริษัทจีน ดังต่อไปนี้
อย่างที่หลายคนเคยได้ยินว่า “จีน” เป็นประเทศที่เติบโตอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งธุรกิจหลายอย่างของจีนก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และขยายเข้าไปในหลายประเทศ ดิวจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่น่าคว้าไว้ ด้วยความสามารถด้านภาษาจีนที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับความคุ้นชินกับวัฒนธรรมของคนจีนที่เคยได้เรียนรู้และสัมผัสขณะเรียนที่พีบีไอซี หลักสูตรจีนศึกษา และครั้ง
ที่มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเป่ยต้า หรือ Peking University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของจีน ทำให้ดิวเริ่มมองอนาคตในการทำงาน ว่าสนใจอยากจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับจีน
ต้องถือว่าการที่ได้เรียนจีนศึกษา ถึงแม้จะเป็นการเรียนด้านสังคมศาสตร์ แต่ก็ได้นำมาใช้ในการทำงานสายธุรกิจอย่างมาก อย่างแรกเลยคือเราได้ภาษาจีน รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย จากการเรียนในหลักสูตรนานาชาติ ด้านจีนศึกษา ทำให้ได้ฝึกฝนทั้งสองภาษาควบคู่กันไป แต่การเรียนจีนศึกษาก็ไม่ได้เน้นแค่การเรียนภาษาเท่านั้น แต่มันคือการทำความเข้าใจบริบทรอบด้านของประเทศจีน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจีน ซึ่งการมีทั้งความรู้และความเข้าใจในประเทศที่เราต้องทำงานคลุกคลีอยู่ด้วย เป็นเหมือนภาษีที่มากกว่า และสามารถไปต่อได้ไม่ว่าจะต้องทำงานในธุรกิจสายไหนของจีนก็ตาม อย่างในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่ดิวทำงานอยู่ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในสายสังคมศาสตร์ ดูจะเหมาะกับคนที่เรียนด้านโลจิสติกส์โดยตรงมากกว่า แต่ด้วยความที่เข้าใจบริบทของประเทศจีน ไปจนถึงเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคนจีน เข้าใจตลาดจีน ประยุกต์เข้ากับความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย และวัฒนธรรมแบบไทย ๆ อยู่แล้ว จึงทำให้ดิวสามารถนำความเข้าใจในบริบทของทั้งสองประเทศมาวิเคราะห์และวางแผนการตลาดร่วมกัน ให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพได้
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในบริษัทจีนก็คือ หากรู้เพียงแค่ภาษาจีน ไม่เพียงพอต่อการทำงานร่วมกับคนจีน ซึ่งดิวโชคดีที่มีภูมิความรู้เกี่ยวกับจีนค่อนข้างแน่น จากการเรียนในมหาวิทยาลัย จุดเด่นของพีบีไอซีที่ดิวชอบก็คือ การเรียนการสอน ที่ไม่ได้สอนแค่ภาษาจีน แต่คือการเรียนรู้ว่าจะนำภาษาจีนซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่มีติดตัวไปใช้ต่ออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการเข้าใจบริบทด้านต่าง ๆ ของจีนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งการเรียนการสอนโดยอาจารย์ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ในแต่ละสาขาวิชา และเป็นชาวจีนที่สามารถอธิบายเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับจีนได้อย่างเข้าใจและเห็นภาพมากกว่า ในขณะที่เพื่อนของดิวที่ตัดสินใจเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโท และขอให้อาจารย์ชาวจีนที่พีบีไอซีเป็นผู้อ้างอิงในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังในจีน ก็ถือว่ามีภาษีที่ดีมาก เพราะอาจารย์แต่ละท่านก็มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงการการศึกษาจีนอย่างมาก อีกหนึ่งข้อดีอย่างยิ่งจากการเรียนที่พีบีไอซีก็คือ มีมหาวิทยาลัยชื่อดังคู่สัญญาในประเทศจีนให้เราได้ไปแลกเปลี่ยนเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา ซึ่งดิวคิดว่าหลักสูตรนี้มีประโยชน์มาก ในแง่ที่ทำให้ได้รับทั้งประสบการณ์และสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมจีนด้วยตัวเอง ยิ่งได้มาทำงานในสายธุรกิจจีนแล้ว ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนมา รวมทั้งประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่จีนนั้น มีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างยิ่ง
ในช่วงแรกที่ดิวเริ่มทำงานกับ SF Express 1-2 ปีแรกดิวได้มีโอกาสไปประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ทำให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคนจีน ติดต่อกับลูกค้าชาวจีนโดยตรง ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ก็ได้เจอกับลูกค้าที่อยู่ชมรมปีนผา ที่มหาวิทยาลัยเป่ยต้า ซึ่งดิวก็เคยอยู่ชมรมนี้ ทำให้มีเรื่องพูดคุยและเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับลูกค้า สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนภาษีทางสังคมบางอย่างที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือและทำให้การพูดคุยงานก็เป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักวงสังคมของคนที่จบมหาวิทยาลัยเดียวกันที่ทำงานในธุรกิจนี้มากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดิวได้รับจากการตัดสินใจเรียนหลักสูตรจีนศึกษา ที่พีบีไอซี
เพื่อน ๆ ดิวที่จบจีนศึกษาด้วยกัน ก็มีทั้งคนที่เลือกเรียนปริญญาโทต่อในประเทศจีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถือโอกาสขอให้อาจารย์ชาวจีนที่พีบีไอซี เป็นบุคคลอ้างอิงให้ เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่ก็จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนเช่นกัน เรื่องนี้เลยไม่เป็นปัญหาเลย ส่วนเพื่อน ๆ ที่เลือกทำงานต่อก็มีอยู่ในหลายสายงานที่เกี่ยวข้องกับจีน ทั้งงานด้านสถานทูต ล่าม ที่ปรึกษาด้านการตลาด รวมถึงธุรกิจระหว่างประเทศหลากหลายสายงาน แม้ว่าบางสายงานอาจจะต้องอาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติม และประสบการณ์ในการทำงาน อย่างธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่ดิวทำอยู่ แต่การเรียนจบในด้านจีนศึกษา ก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อการทำงานเป็นอย่างมาก ในแง่ของการเข้าใจวัฒนธรรมบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในองค์กรของจีน จากการที่เราคุ้นเคยกับชาวจีนมาอยู่แล้ว สิ่งนี้ตอบโจทย์บุคลากรชาวไทยที่นายจ้างชาวจีนมองหาอย่างมาก
“ค่อนข้างยากที่จะหาคนต่างชาติ ที่สามารถร่วมงานกับคนจีน ในวัฒนธรรมแบบจีนได้ เพราะคนจีนมีความชาตินิยมสูงมาก คนที่ได้รู้จักวัฒนธรรมและการทำงานร่วมกับคนจีนอย่างแท้จริง มีอยู่สองประเภทคือ สามารถเข้าใจ ปรับตัวสอดรับกับวัฒนธรรม และทำงานร่วมกับชาวจีนได้ หรือไม่สามารถปรับตัวและอยู่รอดในการทำงานได้ไปเลย”
สำหรับน้อง ๆ ที่มองหาโอกาสการเติบโตในการทำงาน และสนใจทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ “จีน” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีโอกาสในการเติบโตสูงมาก อีกทั้งการเข้ามาตั้งบริษัทจีนในไทยก็มีมากขึ้น ซึ่งต้องการคนไทยผู้มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะความเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานของชาวจีนอย่างลึกซึ้ง สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการชาวจีน ในเรื่องของค่าตอบแทนที่หลายคนคงอยากรู้ว่ามากกว่างานทั่วไปหรือไม่ อย่างที่ทุกคนทราบว่างานที่ต้องใช้ภาษาที่สาม มักจะมีค่าตอบแทนมากกว่างานทั่วไปอยู่แล้ว ยิ่งในบริษัทข้ามชาติที่ใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และต้องการคนเก่ง ๆ มาร่วมงาน ดิวเชื่อว่าค่าตอบแทนที่ได้ย่อมสูงตามไปด้วย และสิ่งที่ได้มากไปกว่านั้นก็คือ สังคมการทำงานที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองที่กว้างมากขึ้น
“สำหรับนายจ้างชาวจีน การมองหาบุคลากรไทยที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมองค์กรของจีนอย่างลึกซึ้งนั้น หาได้ยากกว่าคนที่รู้ภาษาจีนมาก”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันโอกาสในการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจีน และมองอนาคตการทำงานอันกว้างไกลในบริษัทต่างประเทศอย่างจีนมากยิ่งขึ้น วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) เอง ก็มีการเปิดหลักสูตรจีนศึกษา รองรับผู้ที่มีความสนใจเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ของประเทศจีน เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีความรอบรู้ในอาณาบริเวณจีนศึกษา ตอบโจทย์ผู้ประกอบการจีนในปัจจุบัน
สำหรับน้อง ๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในอาณาบริเวณเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยน ในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3701-4 หรือ facebook.com/PBIC.TU