ซีพี ออลล์ จัดเวิร์คช้อปเขียนแผนพัฒนาโรงเรียนในโครงการสานพลังประชารัฐ CONNEXT ED หวังผลได้ประโยชน์สูงสุดแก่เด็กนักเรียน โรงเรียน และชุมชน
เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2561ที่ผ่านมา คณะทำงานส่วนกลาง ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ CONNEXT ED ของซีพีออลล์ ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช้อป) “การจัดทำแผนโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียน ภายใต้โครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ CONNEXT ED” ประจำปีการศึกษา 2561 – 2562 ให้กับ 25 โรงเรียนในเขตภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำจ.เชียงใหม่ ขึ้น โดยมีผู้อำนวยการ คุณครูผู้ดูแลโครงการ และ School Partner เข้าร่วมสัมมนาพร้อมให้ความสนใจ ซักถาม ถึงเทคนิค แนวทางการเขียนแผนโครงการ ก่อนนำเสนอแผนต่อคณะกรรมการกลั่นกรองทันทีเพื่อรับฟังคำชี้แนะ และกลับไปปรับปรุงแผนเตรียมการนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และนำเสนอต่อ School Counselor ตามขั้นตอนต่อไป
นับแต่โครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ CONNEXT ED ได้ Kick-off อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนผู้สนับสนุนโครงการแต่ละบริษัท ต่างก็เริ่มส่ง School Partner ลงพื้นที่ตามขั้นตอนการดำเนินการในขั้นที่ 1 และ 2 นั่นคือ การสำรวจข้อมูลโรงเรียน และการเขียนแผนโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียน ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการระหว่างเดือน ตุลาคม 2561 ถึง มีนาคม 2562 ก่อนที่จะนำแผนโครงการพัฒนาโรงเรียนที่ได้นำเสนอต่อ School Counselor หรือผู้บริหารของแต่ละบริษัทเพื่อขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนไปดำเนินโครงการในปีการศึกษาหน้าต่อไป ทั้งนี้ ทีมคณะทำงานส่วนกลาง CP ALL CONNEXT ED นำโดยอาจารย์อรพินธุ์ สุชาติ ประธานคณะทำงานเล็งเห็นว่าหากทุกโรงเรียน และ School Partner มองภาพเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการทำโครงการที่จะมาใช้พัฒนาโรงเรียนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ย่อมจะได้แผนที่มีประสิทธิภาพ ส่งให้ได้ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการตามที่คาดหวังมากที่สุด จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขึ้น
ในการจัดสัมมนาดังกล่าว ประกอบไปด้วย การให้ข้อมูลเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของโครงการ, การให้คำแนะนำในการบันทึกข้อมูลในระบบ School Management ตามหลักความโปร่งใส เปิดกว้างให้ตรวจสอบได้, ขั้นตอนระยะเวลาการดำเนินโครงการภาพรวม, แนวคิดการจัดการศึกษาสมัยใหม่ที่จะสอดแทรกเข้าไปในโครงการ, เทคนิคการเขียนแผนอย่างมีประสิทธิภาพตอบโจทย์วัตถุประสงค์ภารพรวมของโครงการ และรวมถึงให้แต่ละโรงเรียนได้นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อรับฟังคำชี้แนะ ก่อนนำไปปรับปรุงแก้ไข และรอการตรวจสอบจาก School Partner ในการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาแผนร่วมกันกับผอ.และคุณครูที่ดูแลโครงการ เพื่อที่จะได้นำแผนดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อรับทราบ ก่อนส่งกลับมายังคณะทำงานส่วนกลางของบริษัทโดยการอัพโหลดขึ้นระบบ School Management เพื่อนำเสนอผู้บริหารระดับสูงของบริษัท (School Counselor) พิจารณาอนุมัติ โดยตัดขั้นตอนการที่แต่ละโรงเรียนจะต้องเข้ามานำเสนอยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานครออกไป ซึ่งจะช่วยลดภาระที่เกิดจากการเดินทางของผู้อำนวยการและคุณครู รวมถึงตัวโครงการเองก็ผ่านการพิจารณา ให้คำแนะนำ กลั่นกรองมาแล้วว่าเป็นแผนที่สอดรับกับเป้าหมายของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ทั้งด้านการพัฒนาผู้เรียน ด้านการพัฒนาหลักสูตร ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการพัฒนาโรงเรียน(ผอ. และครู) และด้านการพัฒนาสร้างเสริมโครงสร้างทางดิจิตอลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างครอบคลุม
อนึ่ง ในงานสัมมนาครั้งนี้ หลายโรงเรียนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างร่วมกันวางแผน รวมถึงได้นำเสนอโครงการอย่างเต็มที่ แต่ละโครงการล้วนมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดีเมื่อเริ่มทำโครงการไปแล้ว อาทิ โครงการกิ่วประชาSchool Stay : โรงเรียนกิ่วประชาวิทยา จ.ลำปาง, โครงการบริษัท เสาวรสแปรรูป จำกัด : โรงเรียนบ้านทาป่าสัก จ.ลำพูน, โครงการไผ่พอเพียงสู่อนาคตที่ยั่งยืน : โรงเรียนบ้านน้ำย้อย จ.ลำพูน, โครงการนาฏลีลา ก๋องปู่จา สร้างอาชีพ : โรงเรียนชุมชนบ้านบวก จ.ลำพูน, โครงการสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้น : โรงเรียนบ้านปวงคำ(ประชาอุทิศ) จ.ลำพูน และ โครงการอุทยานการเรียนรู้มุ่งสู่อาชีพฯ : โรงเรียนบ้านป่าเลา จ.ลำพูน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ ซีพีออลล์มีแผนที่จะจัดเวิร์คช้อปดังกล่าวอย่างต่อเนื่องไปยังทุกภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้คำแนะนำไปยัง 189 โรงเรียนที่ดูแล ได้จัดทำแผนฯอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความยั่งยืนในระยะยาว โดยภาคอีสานจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น, ภาคกลาง ภาคตะวันออกจัดที่กรุงเทพมหานคร, ภาคใต้ตอนบนจัดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ตอนล่างจัดขึ้นเป็นลำดับสุดท้ายที่จังหวัดตรัง โดยคาดหวังว่าทุกโรงเรียนจะจัดทำแผนโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2562 และเริ่มทะยอยได้รับอนุมัติงบประมาณตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นไป และเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2562 มาแล้ว จะได้สามารถนำเงินงบประมาณที่ได้รับไปทำโครงการต่างๆตามที่เสนอมาให้เกิดขึ้นจริง ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการมากที่สุด ก่อนที่จะวัดผลความสำเร็จของโครงการในช่วงปลายปีการศึกษา เป็นลำดับถัดไป