องค์ประกอบของการติดไฟแล้วเห็นเป็นเปลวไฟ คือ เชื้อเพลิง (Fuel) กับความร้อน (Heat) และตัวออกซิไดซ์ (Oxidizing agent) นั่นก็คือออกซิเจน (Oxygen) ซึ่งในอากาศมีประมาณ 21% เมื่อวัสดุใดก็ตามได้รับความร้อนถึงจุดวาบไฟ (Flash point) ซึ่งเป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่สารนั้นลุกติดไฟได้ และเมื่ออุณหภูมิของสารนั้นสูงกว่าจุดวาบไฟประมาณ 10–20℃ ก็ถึงจุดไหม้ไฟ (Fire point) กรณีของแอลกอฮอล์ Ethanol) 70% มีจุดวาบไฟที่ 16.6 ℃ เมื่อนำ Ethanol 70% ผสมกับน้ำ เนื่องจากแอลกอฮอล์ Ethanol เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีขั้วเช่นเดียวกับน้ำ ดังนั้น แอลกอฮอล์จึงละลายในน้ำ และเมื่อนำกระดาษมาจุ่มลงไปในสารละลาย กระดาษจะเปียก สารละลายจะซึมเข้าไปในเนื้อกระดาษเมื่อจุดไฟก็จะติด ดังรูป
เนื่องจากน้ำไม่ติดไฟแต่เมื่อได้รับความร้อนอุณหภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 100 ℃ จึงระเหยเป็นไอ เมื่อจุดไฟที่กระดาษที่เปียกสารละลายน้ำผสมกับแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนที่พอเหมาะ แอลกอฮอล์จะติดไฟและเพื่อให้เห็นเปลวไฟชัดขึ้นจึงผสมเกลือลงไปด้วยจะทำให้เปลวไฟเป็นสีส้มชัดขึ้น
เมื่อแอลกอฮอล์ติดไฟแต่กระดาษยังเปียกน้ำอยู่ กระดาษจึงไม่ไหม้ ในขณะที่กระดาษด้านบนที่แห้งไหม้ไฟ และเมื่อแอลกอฮอล์หมดไฟก็ดับ สุดท้ายกระดาษที่ยังเปียกน้ำอยู่จึงไม่ไหม้ แต่ถ้าส่วนผสมมีน้ำน้อยและแอลกอฮอล์มาก ขณะที่แอลกอฮอล์ไหม้ไฟอยู่ จะส่งความร้อนให้กับน้ำจนกระทั่งน้ำมีอุณหภูมิสูง 100 ℃ น้ำจะระเหยจนหมดและกระดาษจะแห้ง เมื่อกระดาษแห้งก็จะติดไฟและไหม้ในที่สุด
ลองสังเกตจากเมื่อนำน้ำมันก๊าดมาผสมน้ำแทนแอลกอฮอล์ เนื่องจากน้ำมันก๊าดไม่มีขั้วจึงไม่ละลายในน้ำ และเนื่องจากมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ จึงลอยอยู่บนชั้นของน้ำ ถ้าอัตราส่วนของน้ำมาก น้ำมันก๊าดน้อย เมื่อนำกระดาษไปชุบแล้วจุดไฟจะมีเขม่าแต่ไม่ติดไฟ ดังรูป
เขม่าที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากน้ำมันก๊าดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีอัตราส่วนของธาตุ C:H มากกว่าแอลกอฮอล์ จึงมีคาร์บอนที่ยังไม่เกิดปฏิกิริยาเหลืออยู่ในรูปของเขม่า แต่ถ้าผสมน้ำมันก๊าดในอัตราส่วนที่มากพอ เมื่อนำกระดาษไปชุบแล้วจุไฟ ไฟจะติด แล้วกระดาษจะไหม้และมีเขม่าด้วย ดังรูป